ฮีทสโตรกในสุนัข ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
สารบัญ
อากาศในประเทศไทยไม่ว่าฤดูกาลไหน ปฎิเสธไม่ได้ว่ามักเจออากาศร้อนอบอ้าว ซึ่งโรคยอดฮิตที่คนพาสัตว์เลี้ยงมารักษากันเยอะมากก็คือ “โรคฮีทสโตรก” (Heat Stroke) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “โรคลมแดด” ยิ่งอยู่ในประเทศไทยที่แดดแรงจนตาจะทะลุด้วยเนี่ย ขนาดคนอย่างเรายังร้อนแทบจะทนไม่ไหวต้องหาอะไรมาช่วยคลายร้อน สัตว์เลี้ยงของเราก็ร้อนได้เหมือนกันเพียงแต่เขาบ่นไม่ได้
ฮีทสโตรกในสุนัข โรคลมแดด (Heat Stroke) คืออะไร?
“โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” (Heat Stroke) ในสัตว์เลี้ยง เป็นภาวะที่ร่างกายของสัตว์ไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติ คือ สูงกว่า 41 องศาเซลเซียส ความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ แถมโรคนี้ยังเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงทุกชนิดโดยเฉพาะน้องหมา น้องแมว เพราะปกติสุนัขและแมวจะมีต่อมเหงื่อบริเวณฝ่าเท้าและจมูกเท่านั้น การระบายความร้อนจึงต้องอาศัยการหายใจและการหอบเป็นหลัก หากร่างกายของพวกเขาไม่สามารถระบายความร้อนได้ทันก็จะเกิดภาวะฮีทสโตรกขึ้น
อาการฮีทสโตรกสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและพบได้บ่อยในสุนัขมากกว่าแมว โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ที่ขนยาว ขนหนา และพันธุ์หน้าสั้น แถมอาการนี้ยังเกิดขึ้นได้ง่ายเพราะมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ส่งผล คือ สภาพอากาศร้อนชื้น การอยู่ในพื้นที่อบอ้าวอากาศถ่ายเทไม่ดี เมื่อร่างกายของสัตว์ได้รับความร้อนมากเกินไปจะทำให้เขาเกิดความเครียด ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่หมุนเวียนในร่างกายลดลงจนความดันเลือดต่ำ หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง การระบายความร้อนที่ต้องอาศัยเลือดเป็นสื่อกลางเกิดความบกพร่อง ความร้อนจึงสะสมอยู่ในร่างกายจนก่อให้เกิดภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) ตามมา ไม่ว่าจะเป็นน้องหมา น้องแมว กระต่าย หรือสัตว์ต่าง ๆ หากอาการรุนแรงสัตว์เหล่านี้อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ และ สามารถสังเกตุอาการว่าสัตว์เลี้ยงของคุณกำลังเครียดกับอากาศร้อนรึป่าวด้วยบทความนี้ 4 อาการหมากำลังเครียดจากอาการร้อน
สาเหตุที่ทำให้สุนัขมีภาวะอุณหภูมิร่างกายสูง
- สุนัขอยู่ในสถานที่ร้อนมากเกินไปและมีความชื้นสูง โดยเฉพาะพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในรถ หรือในห้องปิดทึบ
- ทางเดินหายใจส่วนบนของสุนัขเกิดการอุดตัน ทำให้หายใจได้ไม่ดี ส่งผลให้ระบายความร้อนจากการหายใจได้ช้าลง
- ปัจจัยเสี่ยงร่วมอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโรคลมแดดคือ มีภาวะอัมพาตของคอหอยและกล่องเสียง มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดและระบบประสาท มีโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ หรือเคยมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจมาก่อน
- ได้รับสารพิษบางประเภท เช่น สาร strychnine
- ผลข้างเคียงจากการวางยาสลบ
- ออกกำลังกายอย่างหนักเกินไป
ปัจจัยเสี่ยง
- มีประวัติว่าเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน
- อยู่ในช่วงลูกสุนัข หรือเป็นสุนัขที่มีอายุมาก
- มีภาวะอ้วน
- มีปัญหาด้านการหายใจ หายใจได้ไม่ดี หรือปอดทำงานได้ไม่สมบูรณ์
- เป็นสุนัขพันธุ์หน้าสั้น เช่น ปั๊ก หรือ อิงลิช บูลด็อก เฟร้นช์ บูลด๊อก
- เป็นสุนัขพันธุ์ที่มีขนหนา เช่น ไซบีเรียน ฮัสกี้ อลาสกัน เมลามิวท์ เซนต์เบอร์นาร์ด ปอมเมอร์เรเนียน
- มีภาวะขาดน้ำ ได้รับน้ำไม่เพียงพอ
วิธีตรวจสอบว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการตัวร้อนหรือไม่
หากเป็นมนุษย์ จะใช้วิธีการแตะหน้าผาก แต่หากเป็นสุนัขหรือแมวให้เราตรวจสอบได้ที่บริเวณขาหนีบเนื่องจากมีขนน้อยที่สุดและเป็นแหล่งรวมเลือดไหลเวียน โดยใช้หลังมือมาแตะบริเวณขาหนีบ (เหมือนเราแตะหน้าผาก) ซึ่งอุณหภูมิปกติของสุนัขและแมวจะอยู่ที่ประมาณ 37-38 องศาเซลเซียสนอกจากนี้ยังสามารถใช้ปรอทวัดไข้สำหรับสุนัขโดยเฉพาะได้ โดยจะมาในรูปแบบปรอทที่มีส่วนปลายกลมเล็ก และต้องวัดทางทวารหนักเท่านั้น
วิธีการวัดอุณหภูมิสัตว์เลี้ยงด้วยปรอท
1. นำปรอทจุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดความลื่นสอดเข้าได้ง่าย
2. สอดปรอทเข้าไปทางทวารหนัก และจับปรอทแนบไปกับแนวหาง
3. สอดค้างไว้ 30-60 วินาที จากนั้นนำออกมาอ่านค่า แต่หากก่อนหน้านำไปวิ่งตากแดดหรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนอุณหภูมิก็อาจจะขึ้นได้ จึงควรดูสถานการณ์ ณ ขณะนั้นก่อนด้วย
คำแนะนำ หากไม่แน่ใจในวิธีวัดไข้ด้วยปรอทของสุนัขว่าจะทำได้ถูกวิธีหรือไม่ ควรให้สัตว์แพทย์เป็นคนวัดไข้ให้ เพื่อลดความเสี่ยงในการทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการบาดเจ็บ
อาการของโรคลมแดด (Heat Stroke) ในสัตว์เลี้ยง
1.อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 41 องศาเซลเซียส หรือ 106 องศาฟาเรนไฮต์
2.มีอาการหอบ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หรือหายใจรุนแรงกว่าปกติ
3.หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นผิดจังหวะ
4.น้ำลายไหล จมูกและปากเปียก
5.เหงือกสีแดงเข้ม
6.มีอาการชัก กล้ามเนื้อสั่นเกร็ง หมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
วิธีการปฐมพยาบาลโรคลมแดด (Heat Stroke) ในสัตว์เลี้ยงเบื้องต้น
การปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้เมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นโรคลมแดด สิ่งสำคัญคือการทำให้อุณหภูมิร่างกายของสัตว์ลดลงแต่อย่าให้ลดลงเร็วจนเกินไป โดยควรปฏิบัติ ดังนี้
1.ถ้าสัตว์เลี้ยงของเราอยู่ในที่อากาศร้อน แออัด ให้นำน้องมาอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวกทันที จากนั้นถอดเสื้อผ้าหรือปลอกคอที่ทำให้สัตว์อึดอัดออก
2.ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว รวมถึงเช็ดใต้ฝ่าเท้า รักแร้ และขาหนีบ เพื่อช่วยระบายความร้อนควรใช้น้ำอุณหภูมิห้องในการเช็ด ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำที่อุ่นเกินไป เพราะสัตว์อาจเกิดภาวะช็อคได้
3.นวดบริเวณขาเพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด
4. หาน้ำให้กินในระหว่างนี้ควรให้สัตว์เลี้ยงกินน้ำทีละน้อย อย่าปล่อยให้สัตว์เลี้ยงกินน้ำเยอะ ๆ ในครั้งเดียว เพราะอาจทำให้อาเจียนได้ ส่วนในกรณีที่สัตว์เลี้ยงไม่สนใจให้ใช้น้ำซุปไก่หรือน้ำซุปเนื้อแทนได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรบังคับหากสัตว์เลี้ยงไม่ยอมกินด้วยตัวเอง
5. นำสัตว์เลี้ยงออกจากบริเวณที่มีความร้อนสูง หากเป็นไปได้ควรพาสัตว์เลี้ยงมาอยู่ในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลมโกรก หรือบริเวณที่มีไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ควรห้ามไม่ให้สัตว์เลี้ยงออกไปทำกิจกรรมหรือวิ่งเล่นที่กลางแจ้ง จนกว่าจะตรวจเช็กจนมั่นใจว่าสัตว์เลี้ยงหายเป็นปกติแล้ว
เมื่อปฐมพยาบาลเสร็จควรรีบนำสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาลเพื่อให้สัตวแพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างละเอียด และห้ามให้ยาโดยไม่ได้รับการพิจารณาจากสัตวแพทย์เด็ดขาด
วิธีป้องกันโรคลมแดด (Heat Stroke) ในสัตว์เลี้ยง
อาการฮีทสโตรก (Heat Stroke) มักเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดและมีความชื้นสูง เจ้าของต้องคอยสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนเองบ่อยๆ เวลาเขาวิ่งเล่นหรือออกกำลังกาย หากสุนัขดูหอบมากกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณเริ่มแรกของฮีทสโตรก ควรหลีกเลี่ยงการให้สัตว์เลี้ยงไปอยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนและอากาศถ่ายเทไม่ดี และวางน้ำไว้ให้สัตว์ได้กินตลอดเวลา อาจจะเพิ่มน้ำแข็งสักก้อนให้เขาได้เลียคลายความร้อน
ฮีทสโตรกเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวสำหรับสัตว์เลี้ยงมาก ๆ มนุษย์อย่างเราอย่ามัวแต่ห่วงโควิดจนละเลยอาการฮีทสโตรกในน้องสัตว์กันนะ เพราะประเทศไทยอากาศร้อนตลอดเวลา โรคลมแดดเลยมีโอกาสเกิดขึ้นกับน้องสัตว์ได้เสมอ ดังนั้นเจ้าของควรใส่ใจและสังเกตอาการ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสัตว์ที่เราเลี้ยงควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วพามาพบสัตว์แพทย์ทันที
เมื่ออากาศรอบตัวมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกที ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์เลี้ยงต่างก็เสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยด้วยกันทั้งนั้น และ โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก อย่าง น้องหมาที่มักจะอดใจไม่ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านไม่ไหว ก็มักจะต้องเจอกับอากาศร้อนอยู่เสมอ ทำให้เสี่ยงต่ออาการ โรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดที่อาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
อ้างอิงข้อมูลจาก