10 โรคที่สุนัขแก่ต้องระวัง
โรคที่สุนัขแก่ต้องระวัง ที่เจ้าของอาจจะต้องพบเจอ แต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร อาการป่วยต่างๆเหล่านี้เป็นอาการหรือโรคที่สามารถพบเจอได้เมื่อสุนัขอายุเยอะขึ้น เช่น อาการหายใจแรง หอบหืด หรือ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงต่างๆ สุดท้ายก็จะส่งผลไปถึงเรื่อง ไม่ยอมกินอาหาร ไม่ยอมขยับตัว และไม่ยอมเข้าสังคม
สุนัขแก่สูงวัยต้องระวังโรคอะไรบ้าง
พราะสุขภาพของสุนัขคือเรื่องสำคัญ แม้ว่าสุนัขจะเข้าสู่ช่วงอายุมากแล้ว หลายคนยังเห็นว่าแข็งแรงดี ภายนอกไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ก็อย่าเพิ่งได้วางใจ เพราะบางครั้งภายในร่างกายของพวกเขาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุจนไม่เหมือนเดิม โดยปกติแล้วเราจะนับว่าสุนัขเข้าสู่ช่วงสูงวัยได้ตั้งแต่อายุ 6-7 ปี โดยเฉลี่ย เมื่อสุนัขเข้าสู่ช่วงนี้แล้วเราควรสังเกตพวกเขามากขึ้น เพราะว่าพวกเขาเริ่มมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ มากขึ้นนั่นเอง
โดยปกติแล้วสุนัขที่เข้าสู่ช่วงสูงวัยมักจะเชื่องช้าลง ไม่กระฉับกระเฉงหรือพลังงานล้นเหลือเหมือนเมื่อสมัยยังเป็นวัยรุ่น บางครั้งอาจจะพบว่าสุนัขเวลานอนต่อวันเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในสุนัขสูงวัย แต่สัญญาณบางอย่างก็เป็นสิ่งที่เราควรระมัดระวังและใส่ใจมากขึ้น เช่น เบื่ออาหาร แน่นอนว่าเมื่อสุนัขอายุมากขึ้นย่อมมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต่างๆ มากขึ้นด้วย ในสุนัขสูงวัยอาการผิดปกติต่างๆ อาจจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ต้องคอยหมั่นสังเกต ถ้าเราสามารถพบอาการผิดปกติได้เร็ว ก็จะรักษาหรือป้องกันได้เร็ว ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
โรคในสุนัขสูงวัยนั้นมีอยู่หลายโรค โดยในบทความนี้เราขอเลือกโรคที่พบได้บ่อยมาให้เจ้าของสุนัขทุกท่านได้รู้จักกัน เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะของโรค วิธีการรักษาและการป้องกันอย่างถูกต้อง
1. โรคไตวายในสุนัข (Renal Failure)
โรคไตถือว่าเป็นหนึ่งในโรคในหมาแก่ที่อันตรายและน่ากังวลที่สุดในบรรดาโรคภัยต่างๆ อย่างที่เราทราบกันดีว่าไตเป็นอวัยวะสำคัญในการกำจัดของเสีย ควบคุมระดับแร่ธาตุต่างๆ ในร่างกายให้สมดุล ไม่ว่าจะเป็นโพแทสเซียม โซเดียม รวมทั้งน้ำในร่างกาย แต่เมื่อสุนัขแก่ตัวลง ความสามารถในการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ก็เริ่มลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น การศึกษาวิจัยของสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่ากว่า 20% ของสุนัขแก่ที่มีอายุมากกว่า 5 ปีมักเจอปัญหาโรคไตจนนำไปสู่การสูญเสียในที่สุด โดยโรคไตหรือไตวายถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง
อาการและวิธีการสังเกตุโรค : สิ่งที่น่ากลัวของโรคไตคือเจ้าตูบจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ จนกว่าไตจะถูกทำลายไปกว่า 2 ใน 3 ของเนื้อเยื่อทั้งหมด โดยอาการที่มักแสดงออกจะมีดังนี้
- เบื่ออาหาร แต่ดื่มน้ำเยอะ
- ซีด ซึม อาเจียน
- หมาฉี่บ่อยกว่าปกติ
- น้ำหนักลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- อุจจาระมีสีดำหรือมีเลือดปน
- มีอาการชัก จากปริมาณของเสียในร่างกายที่มากเกินไป
วีธีการดูแลรักษา : ในกรณีที่เป็นภาวะไตวายเฉียบพลัน ถือว่าเป็นอันตรายและมีโอกาสการเสียชีวิตสูงมาก แต่หากพาไปพบหมอได้ทันท่วงทีก็สามารถรักษาให้หายและกลับมาเป็นปกติได้ อย่างไรก็ตาม สุนัขแก่ส่วนใหญ่มักเจอปัญหาป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งไม่สามารถรักษาให้กลับมาหายขาด แต่จะยังสามารถรักษาตามอาการโดยการพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่ต้องเป็นสูตรควบคุมปริมาณโปรตีนสำหรับหมาป่วยโรคไตโดยเฉพาะ และการเตรียมน้ำสะอาดให้น้องหมาดื่มได้ตลอดเวลา
2. โรคตาฝ้าฟางหรือต้อกระจกในสุนัข (Cataract)
โรคต้อกระจก คือการที่เลนส์ตามีความขุ่นมัวเป็นสีขาวหรือเหลือง ซึ่งจะทำให้การมองเห็นของสุนัขลดลง มีสาเหตุมาจากการเสื่อมตามวัยจากอายุที่มากขึ้นของสุนัข ส่วนมากพบในน้องหมาที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป หรืออาจเกิดจากกรรมพันธุ์ อุบัติเหตุ หรือโรคบางโรค โดยอาการของหมาตาเป็นฝ้า จะค่อยๆ แสดงให้เห็นผ่านพฤติกรรมของสุนัขที่มีความสามารถในการมองเห็นที่ลดลง
- อาการและวิธีการสังเกตุโรค
- เดินชนสิ่งของ
- การตอบสนองช้าลง
- มีฝ้าขึ้นที่ตาดำ
- ไม่สามารถเดินขึ้นลงบันไดได้
- อาจเกิดอาหารหงุดหงิด ก้าวร้าว
วีธีการดูแลรักษา : การรักษาโดยทั่วไปจะใช้ยาสำหรับหยอดตา เพื่อชะลอไม่ให้ฝ้าที่ตาขยายตัวมากขึ้น แต่จะไม่สามารถทำให้อาการต้อกระจกหายไปได้เป็นปลิดทิ้ง สำหรับกรณีที่เป็นมาก สัตวแพทย์อาจจะแนะนำให้ผ่าตัดสลายต้อกระจกและเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียมด้วยคลื่นความถี่สูง
(Phacoemulsification) ในส่วนของเจ้าของเอง อาจช่วยทำให้ชีวิตของหมาแก่ง่ายขึ้นโดยการเคลียร์บ้านให้สะอาดโล่ง เก็บสิ่งของที่เกะกะออก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเดินชนเพราะการมองเห็นไม่ชัดของน้องหมาครับ
3.โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงในสุนัข (Myasthenia Gravis)
โรคสุนัขขาไม่มีแรงเป็นอีกหนึ่งอาการไม่พึงประสงค์ที่มักพบได้ในสุนัขแก่ โดยสาเหตุหลักเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทสั่งการ จากการที่ร่างกายผลิต Antibody มาขัดขวางการรับสัญญาณสื่อประสาท นำไปสู่อาการไม่มีแรงคล้ายกับอัมพาต ทำให้สุนัขไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามใจต้องการ ในบางตัวไม่สามารถเดินหรือวิ่งเล่นได้เหมือนปกติ และบางตัวอาจมีปัญหาเรื่องการกลืนอาหาร จนนำไปสู่อาการสำลักได้
- อาการและวิธีการสังเกตุโรค
- ไม่สามารถกลืนอาหารไม่ตามปกติ
- กระพริบตาลำบาก
- หายใจลำบาก
- เสียงเห่าเปลี่ยนไป
- กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ อ่อนแรง
วีธีการดูแลรักษา : ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคหมาขาไม่มีแรงให้หายขาด แต่สัตวแพทย์จะจ่ายยากดภูมิเพื่อระงับการผลิต Antibody ออกมาเพิ่ม โดยน้องหมาอาจจะต้องทานยาไปตลอดชีวิตในกรณีที่อาการของโรคส่งผลต่อการเคี้ยวและกลืนอาหาร และเจ้าของควรใส่ใจสังเกตอาการของสุนัขอย่างสม่ำเสมอ
4.โรคเกี่ยวกับช่องปากและฟันในสุนัข (Periodontal Disease)
ปัญหาช่องปากไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะครับ โดยเฉพาะในสุนัขสูงอายุที่ถูกปล่อยปละละเลยเรื่องสุขภาพช่องปากมาอย่างยาวนาน มีจุดเริ่มต้นมาจากคราบพลัคที่สะสมจากแบคทีเรีย, น้ำลาย และเศษอาหารที่ติดค้างอยู่ในช่องปาก หากปล่อยไว้นานอาจเกิดการอักเสบเรื้อรัง เจ็บปวด และฟันหลุดได้ในที่สุด ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการกินอาหารของเจ้าหมาครับ
- อาการและวิธีการสังเกตุโรค
- กินอาหารน้อยลง
- ไม่ค่อยเคี้ยวอาหาร
- มีกลิ่นปากเหม็น
- เหงือกบวมแดง
- เลือดออกตามเหงือก / ไรฟัน
วีธีการดูแลรักษา : ปัญหาโรคในช่องปากระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายได้โดยการขูดหินปูน และกำจัดแบคทีเรียต่างๆ ในช่องปาก แต่หากมีอาการของโรคที่ค่อนข้างรุนแรงและเรื้อรัง อาจต้องมีการวางยาสลบเพื่อทำศัลยกรรมรักษาเพิ่มเติม เจ้าของควรดูแลเรื่องความสะอาดของช่องปากสุนัข หมั่นแปรงฟัน หรือเลือกอาหารที่มีส่วนช่วยขัดฟัน รวมถึงพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวมเป็นประจำทุกปี
5. โรคหัวใจในสุนัข (Heart Diseases)
ภาวะหัวใจล้มเหลวคือหนึ่งปัญหาของโรคหัวใจที่ทำให้เจ้าของหลายๆ คนกลัว เกิดขึ้นจากการที่สุนัขแก่ตัวลงทำให้ความสามารถในการสูบฉีดเลือดลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับอวัยวะอื่นๆ ทั้งหมดในร่างกายที่จะไม่ได้รับเลือดมาหล่อเลี้ยงมากเพียงพอ จนนำไปสู่ภาวะระบบร่างกายล้มเหลวในที่สุด
- อาการและวิธีการสังเกตุโรค
- อ่อนแรง เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- ซึม ไม่ร่าเริงเหมือนเก่า
- หายใจหอบ
- ไอแห้ง (โดยเฉพาะกลางคืน)
- เบื่ออาหาร
วีธีการดูแลรักษา : หากสุนัขของคุณถูกวินิจฉัยเป็นโรคหัวใจ สัตวแพทย์จะให้ยารักษาโรคหัวใจ โดยเจ้าของจะต้องใส่ใจและดูแลอย่างใกล้ชิด ห้ามหยุดการให้ยาโดยพละการ เนื่องจากนั่นอาจทำให้การรักษาหยุดชะงักและมีอาการที่รุนแรงมากกว่าเดิม ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ หรือกิจกรรมที่ทำให้เหนื่อยง่าย
6. โรคมะเร็งและเนื้องอกในสุนัข (Dog Cancer)
เช่นเดียวกันกับมนุษย์ที่ไม่มีใครอยากถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง น้องหมาก็เช่นกันครับ แต่การควมคุมไม่ให้เกิดนั้นอยู่นอกเหนือความคาดหมาย โดยอาจเกิดจากหลายปัจจัยทั้งกรรมพันธุ์, อาหาร, วิถีชีวิต และชนิดของมะเร็งก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้เช่นกันครับ จริงๆ แล้วสุนัขทุกตัวมีโอกาสเกิดมะเร็ง แต่หากสุขภาพโดยรวมของน้องหมาแข็งแรงก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งได้หลายเท่า ปัจจัยเดียวที่เราสามารถควบคุมได้คือเรื่องของอาหารการกิน และสุขภาพจิตของสุนัข ควรใส่ใจเลือกอาหารที่มีคุณภาพ ถูกหลักโภชนาการ ไร้สารแปลกปลอม
- อาการและวิธีการสังเกตุโรค
- เบื่ออาหาร กลืนลำบาก
- น้ำหนักลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- เกิดก้อนเนื้อใต้ผิวหนัง
- แผลหายช้า
- ขับถ่ายผิดปกติ
- หายใจลำบาก มีอาการไอ สำลัก
- มีเลือด/ของเหลวไหลออกมาจากรูทวาร
วีธีการดูแลรักษา : วิธีการรักษามะเร็งในสุนัขขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง และระยะของโรค ในการจะตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา สัตวแพทย์ต้องวินิจฉัยจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งอายุของสุนัข, ชนิดของมะเร็ง, ระยะของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของเจ้าหมา โดยการรักษาอาจเป็นการผ่าตัด (Surgery), ใช้คีโม (Chemotherapy), การฉายแสง (Radiation Therapy) หรือแนวทางสมุนไพรบำบัด (Herbal Therapy)
แน่นอนว่าหากเจ้าหมาแก่ของเราถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว การรักษาถือว่ามีเปอร์เซ็นต์ให้หายขาดค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เจ้าของควรทำคือหมั่นสังเกตความผิดปกติของอาการน้องหมา หรือหากมีโอกาสได้อาบน้ำสุนัขบ่อยๆ อย่าลืมสัมผัสดูความผิดปกติของร่างกายสุนัข หากจับแล้วพบก้อนเนื้อหรือตุ่มนูนเกิดขึ้น ขออย่ารอช้า ต้องรีบพาไปพบคุณหมอทันทีนะครับ
7. โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข (Canine Blood Parasites)
พยาธิเม็ดเลือดถือว่าเป็นปีศาจร้ายสำหรับสุนัขก็ว่าได้ครับ เพราะไม่ว่าเจ้าหมาจะอายุเท่าไหร่ จะเด็กหรือจะแก่ ก็มีโอกาสเผชิญหน้ากับโรคร้ายนี้ได้จากพาหะอันตราย คือ ‘เห็บหมัด’ ถ้าเทียบกันง่ายๆ โรคพยาธิเม็ดเลือดก็คล้ายๆ กับไข้เลือดออกในคนครับ เห็บจะเป็นตัวนำเชื้อโปรโตซัวจากหมาตัวหนึ่งสู่อีกตัวหนึ่ง และการกัดของเห็บเพียงแค่นิดเดียวก็สามารถส่งต่อเชื้อโรคได้แล้วล่ะครับ
- อาการและวิธีการสังเกตุโรค
- ไม่ร่าเริงเหมือนปกติ มีอาการซึม
- ไม่ยอมกินอาหาร หรือกินน้อยลง
- มีไข้ ตัวร้อน
- เหงือกซีด มีจ้ำตามตัว
- ถ่ายเป็นเลือด (ขั้นรุนแรง)
วีธีการดูแลรักษา : ข่าวดีก็คือโรคพยาธิเม็ดเลือดสามารถรักษาให้หายขาดได้ครับ โดยการให้ยาฆ่าเชื้อ ยาลดไข้ และวิตามินบำรุงร่างกายเพื่อให้สุนัขฟื้นตัวได้ไว แต่ก็ยังต้องตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าค่าเกล็ดเลือดของน้องหมากลับมาอยู่ในระดับปกติ นอกเหนือจากนี้ยังต้องคอยระมัดระวังเรื่องเห็บหมัดไม่ให้กัดน้องหมาอีก เพราะต่อให้เคยเป็นโรคนี้แล้ว ก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกครั้ง
8. โรคกระดูกและข้อเสื่อมในสุนัข
(Osteoarthritis or Degenerative Joint Disease)
สุนัขหลายๆ ตัวมักเจอกับปัญหากระดูกและข้อเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น โดยโรคที่เจอได้ง่ายในสุนัขแก่สายพันธุ์ใหญ่คือ ‘โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Dysplasia)’ ที่เกิดจากความผิดปกติของข้อต่อที่อาจหลวมกว่าปกติจากการใช้งานอย่างหนักมาทั้งชีวิตที่ทำให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างกระดูกมากกว่าปกติ จนเกิดการสึกหรอและเกิดอาการเจ็บปวดในที่สุด
- อาการและวิธีการสังเกตุโรค
- เริ่มทรงตัวไม่ได้ เดินเซ
- หมาขาไม่มีแรง
- แสดงอาการเจ็บขาอย่างชัดเจน
- ไม่ร่าเริง ไม่วิ่งเล่นเหมือนเก่า
- ลุกยืนลำบาก
วีธีการดูแลรักษา : ในกรณีที่สุนัขมีอาการกระดูกและข้อเสื่อมไม่รุนแรง การรักษาขั้นต้นจะเป็นการให้ยาแก้อักเสบและลดปวดเพื่อบรรเทาอาการ ควบคู่กับแนะให้เจ้าของเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม ทางที่ดีเลือกอาหารสุนัขที่มีส่วนประกอบของสาร Glucosamine ที่จะช่วยต้านการอักเสบของโรคกระดูกและข้อโดยตรง และหากน้องหมาอาการดีขึ้นแล้ว ก็ควรให้น้องออกกำลังกายเบาๆ เพื่อลดน้ำหนัก อย่างการเดินเล่น หรือการว่ายน้ำ เป็นต้น รวมไปถึงการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง อีกทั้งยังลดอาการเจ็บได้อีกด้วย แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงสัตวแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดได้
9. โรคอ้วนในสุนัข (Obesity)
ผลวิจัยพบว่า สุนัขสูงอายุกว่า 40-45% มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และนั่นอาจนำไปสู่จุดเริ่มต้นของโรคภัยต่างๆ ยามแก่ ถึงแม้ตัวโรคอ้วนเองจะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของสุนัข แต่นี่คือหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ,โรคข้อต่ออักเสบ, นิ่วในกระเพราะปัสสาวะ รวมไปถึงมะเร็งบางชนิดได้
อย่างที่เราเคยได้ยินคำเตือนกันนะครับว่า ‘อย่าให้สุนัขกินอาหารคน’ เพราะนอกจากสารอาหารที่จะได้ไม่ครบถ้วนแล้ว น้องหมาอาจจะยังได้รับพลังงานจากอาหารที่มากเกินไป สะสมจนกลายเป็นโรคอ้วนซึ่งอาจทำให้อายุขัยของน้องหมาสั้นลงได้ครับ
- อาการและวิธีการสังเกตุโรค
- คลำซี่โครงของสุนัขไม่พบ
- สุนัขมีน้ำหนักที่มากเกินมาตรฐาน
- มีปัญหาเรื่องการหายใจ เช่นหายใจแรงหรือนอนกรน
- เคลื่อนไหวร่างกายช้าลง นอนมากขึ้น
- ติดนิสัยขออาหารเพิ่ม ทั้งๆ ที่อิ่มแล้ว
วีธีการดูแลรักษา : สิ่งสำคัญในการรักษาโรคอ้วนของสุนัขเริ่มที่วิธีการเลี้ยงครับ เจ้าของควรระลึกไว้เสมอว่า หากเราสามารถแก้ที่ต้นเหตุได้ ก็จะช่วยลดปัญหาที่อาจตามมาของสุนัขแก่ การให้อาหารที่เหมาะสมและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอคือสิ่งสำคัญที่สุด ถึงแม้ผลลัพธ์จะไม่ได้แสดงให้เห็นในเวลาอันสั้น แต่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตน้องหมาตั้งแต่วันนี้ และใส่ใจเลือกอาหารสุนัขสูงอายุที่มีคุณภาพ จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆได้หลายเท่าเลยล่ะ
10. โรคเบาหวานในสุนัข (Diabetes)
โรคเบาหวานคือภาวะที่น้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกินไปจากความผิดปกติของอินซูลิน ข้อน่ากังวลคือโรคนี้มักเกิดในสุนัขสูงอายุ การที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะนำไปสู่ภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ จนทำให้การรักษานั้นยากขึ้นกว่าเดิมครับ
- อาการและวิธีการสังเกตุโรค
- ดื่มน้ำบ่อยกว่าปกติ
- ปัสสาวะบ่อย
- เบื่ออาหาร
- เพลีย ไม่มีแรง
- มีอาเจียนสำหรับสุนัขบางตัว
วีธีการดูแลรักษา : เช่นเดียวกับมนุษย์ โรคเบาหวานในสุนัขก็ไม่สามารถหายขาดได้เช่นกัน แต่จะเป็นการควบคุมโรคโดยการให้อินซูลินอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมอาหารเป็นพิเศษ โดยเจ้าของต้องคอยพาน้องหมาไปพบคุณหมอตามนัด สังเกตอาการผิดปกติ รวมถึงฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของสัตวแพทย์