เลี้ยงแมวยังไงให้อยู่กับเราไปนานๆ
สารบัญ
พอแมวใช้ชีวิตอยู่กับเรา ตั้งแต่วันที่เป็นลูกแมวจนมาถึงแมววัยกลางคน ความผูกพันก่อตัวอย่างไม่มีทีท่าจะจางลง มีแต่จะเข้มข้นขึ้นทุกวัน เพราะเข้าใจกันมากขึ้น ฟังกันรู้เรื่องมากขึ้น ระยะห่างของความเป็นแมวกับความเป็นคนน้อยลงเรื่อยๆ แต่ทุกสิ่งมีชีวิตต่างมีอายุขัยของตัวเอง แมวก็เช่นกัน
อายุเฉลี่ยของแมว
อายุเฉลี่ยของแมวแต่ละตัวมีปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องของสายพันธุ์ สาเหตุการเจ็บป่วย และที่อยู่อาศัยของแมว แต่อายุขัยโดยเฉลี่ยของแมวจะอยู่ระหว่าง 15-17 ปี แม้ว่าในความเป็นจริง แมวบางตัวอาจอยู่ไปไม่ถึงขั้นนั้นด้วยเหตุผลนานัปการ แต่ในเวลาเดียวกันก็มีแมวบางตัวมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพแม้จะเลยปีที่ 20 ไปแล้วก็ตาม
เลี้ยงแมวอย่างไรให้อายุยืน
รู้หรือไม่ว่าหากเราดูแลแมวของเราให้มีสุขภาพที่ดี น้องแมวก็มีโอกาสที่จะเป็นแมวอายุยืนถึง 20 ปีได้เลย หัวใจสำคัญในการเลี้ยงแมวให้มีอายุยืนยาวก็ไม่ต้องใช้เคล็ดลับอะไรให้วุ่นวาย เพียงแต่หมั่นดูแลเอาใจใส่ในการดูแลสุขภาพ อาหารการกินของน้องแมว และพาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจเช็คสุขภาพตามที่คุณหมอนัดหมายอย่างต่อเนื่องเท่านั้นเอง แต่เล่าแค่นี้อาจจะยังไม่จุใจ มาติดตามอ่านแล้วไปดูแลแมวให้เป็นแมวอายุยืนไปพร้อมๆ กันด้วยเคล็ด(ไม่)ลับในการเลี้ยงแมวนี้กันดีกว่า
1. เลือกอาหารการกิน
กุญแจสำคัญสำหรับการมีสุขภาพดีของน้องแมวนั้นก็ไม่ต่างจากคน การเลือกอาหารที่มีคุณภาพดีมีสารอาหารครบถ้วนล้วนส่งผลต่อสุขภาพของน้องแมวแสนรักของเราทั้งสิ้น ดังนั้นการเลือกอาหารให้น้องแมวจึงเป็นสิ่งสำคัญ แนะนำให้เลือกอาหารแมวเกรดซุปเปอร์พรีเมี่ยม ที่ได้รับการคิดค้นสูตรอาหารจากทีมสัตวแพทย์ และนักโภชนาการผู้เชี่ยวชาญ คัดสรรจากวัตถุดิบคุณภาพสูง อย่าง Purina ONE ที่นอกจากจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความอร่อยถูกปาก และอัดแน่นด้วยสารอาหารจำเป็นครบถ้วนสำหรับน้องแมวแล้ว ยังช่วยดูแลแมวให้มีสุขภาพที่ดี ชะลอความเสื่อมของร่างกาย และมีอายุยืนยาวได้อีกด้วย
2. ดูแลรูปร่าง
เลี้ยงแมวทั้งที ก็ต้องหมั่นดูแลน้องแมวให้ไม่อ้วนจนเกินไป โดยสังเกตได้จากรูปร่างที่สมส่วน ไม่มีพุงห้อยย้อย และไม่อ้วนจนจนมองไม่เห็นสันหลัง น้ำหนักมาตรฐานในน้องแมวจะอยู่ที่ 4.5 กิโลกรัม แต่ในแมวไทยอาจจะบอบบางกว่า น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลกรัม ส่วนน้องแมวสายพันธุ์ใหญ่อย่างเมนคูณน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 11 กิโลกรัม การดูแลรูปร่างไม่ให้อ้วนก็เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดโรคต่างๆ ที่มากับความอ้วน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหากระดูกและข้อ
โรคหัวใจ และโรคทางระบบอื่นๆ ซึ่งวิธีการดูแลน้องแมวให้มีรูปร่างที่สมส่วนก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ให้น้องแมวได้ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 10-15 นาที วันละ 1-2 ครั้ง และให้อาหารในปริมาณที่พอเหมาะ ตามที่ฉลากอาหารข้างถุงระบุเอาไว้ เท่านี้รูปร่างที่ดีเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว
3. ทำหมัน
การทำหมันทำให้แมวอายุยืนยาวขึ้นกว่าน้องแมวที่ไม่ได้ทำหมันถึง 2 เท่า เพราะการทำหมันจะช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าว และการออกเที่ยวนอกบ้าน ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อโรคติดต่ออันตรายที่มาจากการต่อสู้กัน ที่มักจะพบได้มากในน้องแมวที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่านที่ยังไม่ได้รับการทำหมันเพื่อแย่งอาณาเขต หรือแย่งน้องแมวตัวเมียนั่นเอง
โดยอายุเฉลี่ยของน้องแมวปกติจะอยู่ที่ 14-16 ปี แต่การทำหมันจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดโรคต่างๆ ที่กล่าวมา
และทำให้น้องแมวอายุยืนยาวได้อีกหลายปีเลยทีเดียว ถ้าใครมีลูกแมวอายุราว 4-6 เดือน ก็อย่าลืมพาน้องแมวไปปรึกษาคุณหมอ และตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำหมันได้เลย
4. ทำวัคซีน
การทำวัคซีนเป็นการสร้างเกราะป้องกันให้กับร่างกายของน้องแมวจากโรคติดเชื้อร้ายแรงต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อที่อาจเป็นอันตรายต่อคนอย่างโรคพิษสุนัขบ้า การทำวัคซีนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องทำ และต้องไปรับการทำวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นประจำทุกปีตามที่สัตวแพทย์นัดหมาย หรือดูจากตารางนี้ได้เลย
อายุ | โปรแกรมสุขภาพ |
8-9 สัปดาห์ | วัคซีนรวมป้องกันโรคไข้หัด หวัดแมว ระบบทางเดินหายใจ ช่องปาก และตาอักเสบ เข็มที่ 1 |
10-12 สัปดาห์ | วัคซีนรวมป้องกันโรคไข้หัด หวัดแมว ระบบทางเดินหายใจ ช่องปาก และตาอักเสบ เข็มที่ 2 วัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมียเข็มที่ 1 |
12 สัปดาห์ | วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เข็มที่ 1 |
12-16 สัปดาห์ | วัคซีนรวมป้องกันโรคไข้หัด หวัดแมว ระบบทางเดินหายใจ ช่องปาก และตาอักเสบ เข็มที่ 3 วัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมียเข็มที่ 2 |
ทุกปี | วัคซีนรวมป้องกันโรคไข้หัด หวัดแมว ระบบทางเดินหายใจ ช่องปาก และตาอักเสบ วัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า |
5. ป้องกันปรสิต
เรื่องเล็กๆ ที่เจ้าของแมวทุกคนต้องใส่ใจ คือการป้องกันปรสิตตัวร้าย ไม่ว่าจะเป็นหมัด พยาธิภายในทางเดินอาหาร และพยาธิหนอนหัวใจ ปัญหาเหล่านี้เป็นภัยที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำให้เจ้าของแมวมักละเลยที่จะป้องกัน และก่อโรคอันตรายมากมายในน้องแมว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแพ้น้ำลายหมัด ขาดสารอาหารจากการมีพยาธิ เกิดโรคพยาธิหนอนหัวใจซึ่งการมีพยาธิหนอนหัวใจในน้องแมวแค่ตัวเดียว ก็อาจเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้น้องแมวเสียชีวิตได้ โดยเจ้าของน้องแมวสามารถพาน้องแมวไปรับการป้องกันพยาธิภายนอก ภายใน และพยาธิหนอนหัวใจได้ตั้งแต่น้องแมวอายุ 6-8 สัปดาห์ และควรทำการป้องกันเป็นประจำอย่างต่อเนื่องตามที่คุณหมอแนะนำ โดยกินยาถ่ายพยาธิภายในทุกๆ 3 เดือน และป้องกันพยาธิภายนอก เช่น หมัดแมว และป้องกันพยาธิหนอนหัวใจโดยใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดหยดหลังเป็นประจำทุกเดือน
อายุของแมวเมื่อนับเป็นปีแบบมนุษย์
เช่นเดียวกับมนุษย์ กระบวนการของความสูงวัยเป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคล และแมวแต่ละตัวก็จะแสดงสัญญาณของความสูงวัยในเวลาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วร่างกายของแมวจะเริ่มแสดงสัญญาณแรกแห่งความสูงวัยที่ระดับเซลล์ในช่วงอายุเจ็ดปี แต่คุณจะไม่สามารถมองเห็นอาการภายนอกได้จนกว่าแมวของคุณจะอายุประมาณ 12 ปี ตั้งแต่จุดนี้เป็นต้นไป เซลล์ในร่างกายของแมวจะชะลอตัวลงและการทำงานของร่างกายจะมีประสิทธิภาพน้อยลง รวมถึงหัวใจและระบบภูมิคุ้มกันของแมว
สัตวแพทย์ได้จัดกลุ่มอายุแมวไว้ดังนี้
- แมวโตเต็มวัยเมื่ออายุ 7 ถึง 10 ปี
- แมวเข้าสู่ช่วงสูงวัยเมื่ออายุ 11 ถึง 14 ปี
- แมวจะถูกจัดว่าเป็นแมววัยชราเมื่ออายุ 15 ปีขึ้นไป
เมื่อเปรียบเทียบความสูงวัยเป็นจำนวนปีของมนุษย์แล้ว แมวอายุ 10 ปีจะเทียบเท่ากับมนุษย์อายุ 56 ปี ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับแมวที่จะมีชีวิตอยู่ถึง 20 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับมนุษย์อายุ 96 ปี
สัญญาณของความสูงวัยในแมวของคุณ
แม้ว่าแมวแต่ละตัวจะแสดงสัญญาณของความสูงวัยแตกต่างกัน มีบางอาการของความสูงวัยที่พบบ่อยซึ่งเกิดขึ้นกับแมวทุกตัว การดมกลิ่น รับรส และการได้ยินของแมวจะลดน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อความอยากอาหาร นอกจากนี้ แมวยังได้รับผลกระทบจากปัญหาช่องปาก เช่น ฟันสึก โรคเหงือก หรือฟันหลอ การรวมกันของปัญหาเหล่านี้สามารถทำให้น้ำหนักลด
ข้อต่อของแมวมีความยืดหยุ่นน้อยลง โดยเฉพาะหากได้รับผลกระทบจากโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงและปัญหาการเคลื่อนไหว ความยืดหยุ่นนี้ยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อขนและผิวหนังของแมว
ขนแมวอาจซีดลง และคุณอาจเห็นว่าขนแมวมีคุณภาพลดลงเพราะต่อมไขมันซึ่งผลิตน้ำมันบำรุงสำหรับผิวหนังมีประสิทธิภาพลดลง ความสามารถตามธรรมชาติในการสร้างภูมิคุ้มกันมีแนวโน้มลดลงตามอายุ ทำให้แมวมีความเสี่ยงของการติดเชื้อและเป็นโรค กระบวนการเผาผลาญหลายอย่าง เช่น ระบบย่อยอาหารก็เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยความสามารถในการย่อยไขมันและโปรตีนลดลงเมื่อแมวสูงอายุขึ้นเรื่อยๆ
แมวสูงวัยอาจแสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงการขาดปฏิสัมพันธ์หรือส่งเสียงในเวลาที่ไม่ได้เข้าสังคม แมวอาจนอนหลับมากขึ้นแต่หลับลึกน้อยลง ซึ่งรบกวนกับกิจวัตรประจำวันและทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรม
อาการของโรคในแมวสูงวัย
บางครั้งอาการเหล่านี้ในแมวที่อายุมากไม่ใช่สัญญาณของการ ‘แก่ขึ้น’ แต่อาจเป็นอาการของปัญหาที่ใหญ่กว่า
แมวมีแนวโน้มที่จะซ่อนอาการแทนที่จะแสดงอาการเจ็บปวดผ่านสัญญาณที่เห็นได้ชัดเจน มีการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมลดลง ซึ่งอาจทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น เช่น การเดินกะเผลก หรือส่งเสียงดัง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทราบการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยของพฤติกรรมแมว เช่น เบื่ออาหาร หรือไม่กระโดดขึ้นไปที่ประจำ หากมีอาการดังกล่าว โปรดพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย
มีอาการทั่วไปที่ควรระวังในแมวสูงวัยซึ่งอาจบ่งบอกถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่:
- การเบื่ออาหารหรือน้ำหนักลดอาจบ่งบอกถึงปัญหาการย่อยอาหาร
- ปัสสาวะหรือกระหายน้ำเพิ่มอาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่ระบบทางเดินปัสสาวะ
- เดินกะเผลก หรือลุกยาก อาจเป็นโรคข้ออักเสบ
- มีความสับสน กังวล หรือแสดงพฤติกรรมผิดปกติ
ด้วยการพบสัตวแพทย์เป็นประจำ คุณจะสามารถตรวจสอบสภาวะร้ายแรงก่อนลุกลาม และทำให้แน่ใจว่าคุณดูแลแมวสูงวัยของคุณอย่างดีที่สุด
บทความน่าสนใจ โรคสำคัญในแมว ที่สามารถป้องกันได้โดยการทำวัคซีน
อ้างอิงข้อมูลจาก