บอกอายุขัยสุนัขจากฟันได้จริงหรือ
สารบัญ
รู้หรือไม่ว่าคุณสามารถกะอายุของสุนัขได้โดยดูฟันของมัน? การตรวจดูฟันของสุนัขที่โตเต็มวัยแล้วจะช่วยให้คุณคำนวณอายุคร่าวๆ ของสุนัขได้ สำหรับลูกสุนัข การกะอายุจะทำได้อย่างแม่นยำกว่าหน่อยเพราะฟันน้ำนมของลูกสุนัขมักจะหลุดไปตามอายุ ถึงแม้ว่าฟันจะช่วยให้คุณคำนวณอายุของสุนัขได้อย่างคร่าวๆ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการหาอายุที่ดี
ทำความเข้าใจฟันสุนัข
ทำความเข้าใจโครงสร้างและการเรียงตัวของฟันสุนัข
สุนัขทุกตัวมีฟันพื้นฐานอยู่ 4 ประเภท คือ ฟันตัด (incisors) ฟันเขี้ยว (canines) ฟันกรามน้อย (premolars) และฟันกรามใหญ่ (molars) ฟันเหล่านี้เป็นทั้งฟันบนและฟันล่าง ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา
ฟันตัดคือฟันซี่เล็กที่เรียงตัวตามด้านหน้าของปาก สุนัขที่โตเต็มวัยแล้วจะมีฟันตัด 6 ซี่ด้านบนและ 6 ซี่ด้านล่าง ฟันตัดข้าง 2 ซี่ (อยู่ข้างฟันเขี้ยว) จะมีขนาดใหญ่กว่าฟันตัดตรงกลางเล็กน้อย ฟันตัดด้านบนมักจะเผยอออกข้างมากกว่านิดหน่อยด้วย
ฟันเขี้ยวอยู่ต่อจากฟันตัด มีฝั่งและด้านละซี่ ทั้งหมดเป็น 4 ซี่ เป็นฟันแหลมขนาดใหญ่
ฟันกรามน้อยอยู่ถัดมาจากฟันเขี้ยว มีฟันกรามน้อยทั้งหมด 4 ซี่ทั้งด้านบนและด้านล่างของปาก ฟันกรามน้อยด้านบนซี่ที่ 4 จะมีขนาดใหญ่มาก
สุดท้าย ข้างๆ ฟันกรามน้อยคือฟันกรามใหญ่ ในปากสุนัขด้านบนจะมีฟันกรามใหญ่ 2 ซี่ ด้านล่างจะมี 3 ซี่ ฟันซี่แรกมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 ซี่
ทำความเข้าใจว่าฟันสุนัขขึ้นอย่างไร
ลูกสุนัขส่วนใหญ่มีฟันราว 28 ซี่ ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกจะไม่มีฟันที่มองเห็นได้ชัดเจน ฟันน้ำนมสำหรับฟันเขี้ยวและฟันกรามใหญ่จะเริ่มขึ้นหลังจากผ่านไป 4-6 สัปดาห์ ภายในสัปดาห์ที่ 8 ฟันน้ำนมทั้งหมดจะขึ้นแล้ว ในเวลา 3 เดือนต่อจากนั้น จะมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม
หลังจากเวลาผ่านไป 5 เดือน ฟันแท้จะเริ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นฟันเขี้ยวและฟันกรามใหญ่ก่อน ภายในเดือนที่ 7 ฟันแท้จะขึ้นครบหมด ถ้าหากลูกสุนัขของคุณมีฟันแท้ครบแล้ว มันน่าจะมีอายุเกิน 7 เดือน สุนัขที่โตเต็มวัยจะมีฟันประมาณ 42 ซี่
หลังจากผ่านช่วงลูกสุนัขแล้ว อายุของสุนัขจะดูได้จากการสึกของฟัน เมื่อสุนัขอายุ 1 ปี ฟันจะยังขาวและสะอาดอยู่ ภายในปีที่ 2 ความขาวจะเริ่มหม่นลงและฟันจะเริ่มมีคราบหินปูน ซึ่งจะทำให้ฟันด้านหลังเหลือง หลังจากเวลาผ่านไป 3-5 ปีฟันทุกซี่จะเหลืองเพิ่มขึ้น และฟันจะดูสึกลงอย่างเห็นได้ชัด
ฟันน้ำนม
ฟันน้ำนม (temporary หรือ deciduous teeth) ประกอบไปด้วย ฟันตัดหรือฟันหน้าด้านบนและด้านล่าง จำนวนด้านละ 6 ซี่ ฟันเขี้ยวด้านบนและด้านล่าง จำนวนด้านละ 2 ซี่ และฟันกรามน้อยด้านบนและด้านล่าง จำนวนด้านละ 6 ซี่ โดยจะยังไม่มีฟันกรามและฟันกรามน้อยที่ 1 ขึ้นในชุดของฟันน้ำนม เมื่อรวมจำนวนฟันทั้งหมด ทั้งด้านบนและด้านล่าง ก็จะได้จำนวน 28 ซี่ (รวมทั้งด้านซ้ายและด้านขวาด้วยแล้ว) ตามรูปด้านล่างนี้ ซึ่งจะขึ้นครบก็อายุประมาณ 8 สัปดาห์
ฟันแท้
ฟันแท้ (permanent teeth) ประกอบไปด้วย ฟันตัดหรือฟันหน้าด้านบนและด้านล่าง จำนวนด้านละ 6 ซี่ ฟันเขี้ยวด้านบนและด้านล่าง จำนวนด้านละ 2 ซี่ ฟันกรามน้อยด้านบนและด้านล่าง จำนวนด้านละ 8 ซี่ และฟันกรามด้านบนจำนวน 4 ซี่ ส่วนฟันกรามด้านล่างจะมีจำนวน 6 ซี่ เมื่อรวมจำนวนฟันทั้งหมด ทั้งด้านบนและด้านล่าง และด้านซ้ายและขวาแล้ว ก็จะได้จำนวนทั้งสิ้น 42 ซี่ ตามรูปด้านล่างนี้ ซึ่งจะขึ้นครบก็อายุประมาณ 8 เดือนแล้ว
ทำความเข้าใจว่าฟันสุนัขสึกและผุอย่างไรและเพราะอะไร
การสึกของฟันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่กระบวนการสึกอาจเกิดเร็วขึ้นเพราะนิสัยบางอย่าง เช่นการเคี้ยวสิ่งของแข็งๆ แรงๆ (กระดูก หิน หรือไม้) หรือเกิดขึ้นกับสุนัขขนาดเล็กที่ไม่ได้รับการดูแลฟันที่ดี ในทางกลับกัน การเคี้ยวสิ่งของบ้างก็ช่วยรักษาสุขภาพในช่องปากของสุนัขได้ดี หนังที่ยังไม่ได้ฟอก หรือของเล่นสำหรับให้สุนัขเคี้ยวสามารถช่วยให้สุนัขกำจัดคราบหินปูนและสิ่งอื่นๆ ที่ติดฟันอยู่ได้
- ทำความเข้าใจด้วยว่าโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร ภายในปีที่ 3 สุนัขเกือบ 80% จะมีอาการของโรคเหงือก เห็นได้จากคราบหินปูนสีเหลืองและน้ำตาล เหงือกที่อักเสบ และกลิ่นปากเหม็น โดยทั่วไปแล้วโรคเหงือกมักจะพบในสุนัขพันธุ์เล็กมากกว่า
- อาหารก็มีส่วนสำคัญในอนามัยช่องปากของสุนัขด้วย อาหารแห้งจะสามารถช่วยกำจัดคราบหินปูนบางส่วนออกจากฟัน เป็นการชะลอการสึกของฟัน ทำให้ฟันไม่ร่วง มีอาหารบางชนิดที่ออกแบบมาพิเศษสำหรับสุขภาพปากของสุนัข หากคุณกังวลเรื่องฟันของสุนัข สัตวแพทย์จะช่วยให้คำแนะนำคุณเรื่องอาหารที่เหมาะสมสำหรับสุนัขของคุณได้ ยาที่ใช้เติมในน้ำดื่มบางชนิดก็สามารถช่วยต้านแบคทีเรียที่ทำลายฟันและทำให้ฟันสึกได้ด้วย
- ฟันที่สึกอาจดูมีรอยร้าว แต่ว่าการสึกโดยธรรมชาติมักก่อให้เกิดความเสี่ยงทางสุขภาพน้อย แต่ถ้าฟันสึกเยอะมากๆ ก็อาจทำให้รากฟันเสียหาย จนทำให้ต้องรักษารากฟัน
คำนวณอายุของสุนัข
กะอายุของลูกสุนัขโดยการสังเกตการขึ้นของฟัน
ฟันของลูกสุนัขจะขึ้นเร็วมาก ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่สามารถบอกอายุของสุนัขได้อย่างแม่นยำที่สุด เพราะว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้นับจำนวนและดูตำแหน่งฟันของลูกสุนัขเพื่อกะอายุของมัน
ลูกสุนัขเกิดใหม่จะไม่มีฟันที่โผล่ออกมาจากเหงือก เมื่อเวลาผ่านไปสักพักฟันจะเริ่มขึ้น ฟันน้ำนมซี่แรกๆ ที่ขึ้นมักจะเป็นฟันเขี้ยว ขึ้นตอนอายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ เมื่ออายุ 4-5 สัปดาห์ ฟันตัดซี่กลาง 2 ซี่จะขึ้น เมื่ออายุ 4-6 สัปดาห์ ฟันกรามใหญ่ 2 ซี่แรกจะขึ้น เมื่ออายุ 5-6 สัปดาห์ ฟันตัดซี่ที่ 3 จะขึ้น และเมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ ฟันกรามใหญ่ซี่ที่ 3 จะขึ้น ฟันกรามน้อยจะยังไม่ขึ้นจนเวลาผ่านไปอีกนาน
เมื่อลูกสุนัขอายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไป มันจะมีฟันน้ำนม 28 ซี่ เมื่ออายุได้ประมาณ 4 เดือน ฟันน้ำนมจะเริ่มร่วงและฟันแท้จะเริ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้ว ลูกสุนัขมักจะกลืนฟันน้ำนมของตัวเอง แต่บางทีเจ้าของอาจจะเจอฟันน้ำนมที่หลุดหรือเห็นว่าเหงือกของสุนัขมีเลือดออกตรงที่ฟันขึ้น ลุกสุนัขในวัยนี้จะชอบกัดสิ่งของ เหมือนกับเด็กทารกเลย!
เมื่อสุนัขอายุประมาณ 4-5 เดือน ฟันแท้สำหรับฟันตัด ฟันกรามน้อยซี่แรก และฟันกรามใหญ่ซี่แรกจะเริ่มขึ้น เมื่ออายุ 5-6 เดือน ฟันแท้สำหรับฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อยซี่ที่ 2-4 และฟันกรามใหญ่ซี่ที่ 2 จะขึ้น สุดท้าย เมื่ออายุ 6-7 เดือน ฟันกรามใหญ่ซี่ที่ 3 จะขึ้น รวมทั้งหมดแล้วจะมีฟันแท้ 42 ซี่
ดูสภาพฟันของสุนัขที่โตเต็มวัยเพื่อคำนวณอาย
ในช่วงชีวิต 2 ปีแรกที่สุนัขโตเต็มวัย ฟันจะมีสีขาวเป็นส่วนใหญ่และมีรอยสึกน้อยมาก ภายในปีที่ 2 สีขาวจะเริ่มหม่นลง และมีคราบหินปูนเกาะฟัน ซึ่งทำให้ฟันซี่หลังๆ มีสีเหลือง ในที่สุดการสึกกร่อนและคราบหินปูนกับแบคทีเรียสะสมจะทำให้ฟันมีสภาพเก่าลงเรื่อยๆ นี่คือวิธีที่ใช้กะอายุของสุนัขที่โตเต็มวัยได้
ภายในอายุ 3 ขวบ สุนัขส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการโรคฟัน เช่น คราบหินปูนสีเหลืองและน้ำตาล เหงือกแดง กลิ่นปากเหม็น แต่แน่นอนว่าสุนัขที่เจ้าของคอยแปรงฟันให้ทุกวันและพาไปหาทันตแพทย์สำหรับสุนัขเป็นประจำจะไม่มีร่องรองความสึกกร่อนและอาการของโรคเหล่านี้
หลังจากเวลาผ่านไป 3-5 ปี คราบเหลืองจะเพิ่มขึ้นและมีอยู่บนฟันทุกซี่ รวมถึงจะเห็นได้ชัดว่าฟันสึก เมื่อสุนัขแก่ลงเรื่อยๆ ฟันก็จะดูสึกลงเรื่อยๆ เหงือกอาจจะร่น ทำให้มองเห็นรากฟัน ซึ่งอาจทำให้ฟันหลุดได้ คราบบนฟันจะดูชัดขึ้น เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล
ระหว่างช่วงอายุ 5-10 ปี ฟันจะดูสึกกร่อนลงเรื่อยๆ และน่าจะมีอาการของโรคปรากฏขึ้น เมื่ออายุ 10-15 ปี ฟันบางซี่อาจหลุดไป และฟันจะผุกร่อนทั้งปาก
ความผิดปกติของฟัน
ปัญหาของฟันที่อาจพบได้ในสุนัขบางตัว เช่น อาจมีจำนวนฟันงอกเกินมา (supranummary teeth) มากกว่าปกติ โดยอาจจะพบจำนวนฟันตัดมีจำนวนมากขึ้น จากที่มีด้านบนจำนวน 6 ซี กลายเป็นมีถึง 8 ซี่ หรืออาจจะมีจำนวนฟันไม่ครบ (missing teeth) ซึ่งเกิดจากฟันได้หลุดไปหรือฟันไม่ยอมงอกขึ้นมา (ฟันคุด) เนื่องจากมีพื้นที่ไม่เพียงพอ มีสิ่งมาขัดขวางการขึ้นของฟันซี่นั้น หรือบางครั้งก็เกิดฟันงอกขึ้นซ้อนกัน ในรายที่เกิดปัญหาฟันน้ำนมคงค้าง (retained deciduous teeth) ไม่ยอมหลุดออกไป ทำให้ฟันแท้ขึ้นแทรกมา หรือถูกเบียดจนขึ้นผิดที่ ทำให้เกิดปัญหาการสบฟันตามมา ส่วนมากพบได้บ่อยในฟันเขี้ยวและฟันตัด ซึ่งหากสุนัขมีอายุเกิน 1 ปีแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าฟันน้ำนมนั้นจะล่วงหลุดออก จำเป็นต้องให้สัตวแพทย์เป็นผู้ทำการถอนฟันน้ำนมนั้นออกไป ไม่เช่นนั้นจะเกิดโรคปริทันต์ตามมาได้
ปรึกษาสัตวแพทย์หากคุณต้องการคำนวณอายุสุนัขให้แม่นยำกว่านี้
อันที่จริงแล้ว การกะอายุสุนัขจากฟันอย่างเดียวก็เป็นเรื่องยาก อาหาร นิสัยส่วนตัว การดูแล (หรือไม่ดูแล) อนามัยในช่องปากล้วนมีส่วนทำให้ฟันสุนัขกร่อนเร็วขึ้นหรือช้าลงได้
เคล็ดลับ
การคำนวณอายุสุนัขโดยดูจากฟันจะให้คำตอบคุณได้แค่คร่าวๆ เท่านั้น สภาพฟันนั้นขึ้นอยู่กับนิสัยส่วนตัว อาหาร หรือแม้แต่ของเล่นที่สุนัขกัดเป็นอย่างมาก
คำเตือน
สุนัขไม่ได้ชอบให้คนมาดูฟันเสมอไป คุณต้องระวังตัวเวลาเอามือไปใกล้ปากสุนัขเสมอ และอย่าเอามือใส่ปากสุนัขที่ไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคย
เจ้าของสุนัขที่ดีจะไม่ปล่อยปละละเลยฟันของสุนัขจนฟันร่วง (ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าฟันผุและมีหนอง) หรือเหงือกมีเลือดออก แบบนี้สุนัขจะเจ็บ และถือเป็นความผิดของเจ้าของที่ไม่ใส่ใจ
บทความน่าสนใจ 4 ทริคดูแลฟันตูบให้ขาวปิ๊ง ไร้กลิ่นปาก
อ้างอิงข้อมูลจาก