สิ่งสำคัญในการดูแลลูกแมวกำพร้า
การดูแลลูกแมวเกิดใหม่ที่กำพร้าอาจจะทำให้คุณรู้สึกสุขใจอยู่บ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายในขณะเดียวกัน มนุษย์นั้นไม่ใช่ผู้ที่จะมาแทนที่แม่แมวได้ดีเลย และการดูแลป้อนนมลูกแมวนั้นเป็นงานที่ต้องทำตลอดเวลา แม้แม่แมวจะสุขภาพไม่ดีและไม่สามารถที่จะดูแลลูกแมวได้ หรือมันได้ทอดทิ้งลูกแมวไป ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ลูกแมวต้องได้รับการดูแลจนกระทั่งมันเติบโต
สร้างบรรยากาศที่เหมาะกับการดูแลลูกแมว
คุณจะต้องสร้างบรรยากาศที่เหมาะกับการดูแลลูกแมวและเรียนรู้ที่จะดูแล
เรียนรู้วิธีการจับแมว
หมั่นล้างมือเสมอก่อนและหลังจับลูกแมว เพราะว่าลูกแมวอาจจะมีพาหะนำโรคบางอย่าง และพวกมันอาจจะอ่อนแอกับแบคทีเรียหรือเชื้อโรคที่อยู่บนมือของคุณ เมื่อคุณอุ้มลูกแมว ให้อุ้มมันด้วยความระมัดระวัง ตรวจดูเสมอว่าพวกมันรู้สึกอุ่นโดยดูที่อุ้งเท้าของมันว่าเย็นหรือไม่ ถ้าลูกแมวเป็นหวัด พวกมันอาจจะร้องงอแง
- ถ้าคุณมีสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ ขอให้แน่ใจว่าได้แยกมันออกจากลูกแมวกำพร้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อย่าให้พวกมันใช้กระบะขับถ่าย ถ้วยอาหารหรือน้ำ ร่วมกัน เพราะมันสามารถแพร่อาการเจ็บป่วยได้
ทำให้มันอบอุ่น
ลูกแมวแรกเกิด (อายุน้อยกว่า 2 สัปดาห์) ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายของมันได้และโดยปกติแล้วจะต้องนอนอิงแอบซุกแม่แมวเพื่อทำให้ตัวเองอุ่น เพราะว่าลูกแมวกำพร้าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ให้หาแผ่นให้ความร้อนที่ออกแบบมาสำหรับลูกสุนัขและลูกแมว ให้ลูกแมวนอนบนแผ่นให้ความร้อน ต้องแน่ใจว่าอย่าให้ลูกแมวนอนที่แผ่นนั้นโดยตรง จะต้องมีผ้าขนสัตว์ปูคลุมไว้ก่อน ถ้าเกิดว่าไม่มีผ้าขนสัตว์ ให้ใช้ผ้าเช็ดตัวพันรอบแผ่นให้ความร้อนแทน
- ลูกแมวไม่ควรนอนที่แผ่นให้ความร้อนโดยตรง เพราะว่ามันอาจจะโดนความร้อนเผาหรือมันอาจจะรู้สึกร้อนเกินไป
- คุณสามารถใช้ผ้าเช็ดตัวพันรอบกระติกน้ำร้อนแทนก็ได้ แต่ให้ตรวจดูบ่อยๆ ว่ามันยังอุ่นอยู่ (ประมาณ 37 องศาเซลเซียส)
หาที่นอนนุ่มๆ ให้ลูกแมว
วางกล่องหรือกรงแมวไว้ตรงที่ที่เงียบและห่างไกลผู้คนในบ้านของคุณ ห้องที่คุณจะวางกล่องลูกแมวจะต้องอุ่นและไม่มีกระแสลม และจะต้องอยู่ห่างจากสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ปูผ้าเช็ดตัวภายในกล่องเพื่อให้ลูกแมวพักผ่อนอย่างอุ่นสบาย คุณควรที่จะใช้ผ้าเช็ดตัวปิดกล่องหรือกรงแมวด้วยเพื่อให้อุ่นมากขึ้น
- ขอให้แน่ใจว่าไม่ได้ใช้ผ้าขนหนูปิดรูระบายอากาศบนกล่องหรือที่กรง เพื่อไม่ให้ลูกแมวขาดอากาศหายใจ
ให้ลูกแมวอยู่ด้วยกัน
คุณไม่จำเป็นต้องจับลูกแมวให้นอนแยกกล่องหรือแยกกรง ให้ลูกแมวนอนที่เดียวกัน นี่จะช่วยให้ลูกแมวนอนได้อุ่นและสบาย แน่ใจว่ามีพื้นที่เพียงพอที่ลูกแมวสามารถเดินเคลื่อนที่ไปรอบๆ ได้
- ตัวอย่างเช่น ลูกแมวสามารถเดินไปนอนที่ริมแผ่นให้ความร้อนได้ถ้ามันรู้สึกร้อนไป
ป้อนนมลูกแมว
ป้อนนมให้ลูกแมวที่มีอายุน้อยกว่า 3 สัปดาห์อย่างถูกต้อง
ซื้อนมผงสำหรับลูกแมว
ซื้อนมผงสำหรับลูกแมวที่ผลิตมาเพื่อใช้แทนนมแมวจริงๆ เช่น ยี่ห้อ KMR ซึ่งหาซื้อได้จากคลินิกรักษาสัตว์ ร้านค้าขายของสำหรับสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ หรือสั่งจากอินเตอร์เน็ต นี่ก็จะคล้ายๆ กับมนุษย์ที่มีนมสูตรสำหรับทารก โดยนมผงนี้จะมีองค์ประกอบที่เหมือนกับน้ำนมแมว อย่าป้อนนมวัว เพราะในนมวัวมีน้ำตาลและแลคโทส ซึ่งอาจจะทำให้ลูกแมวปวดท้อง
- ถ้าคุณไม่มีนมที่ใช้แทนนมแมวและลูกแมวก็กำลังหิว ให้ป้อนมันด้วยน้ำต้มที่เย็นแล้วโดยใช้ดรอปเปอร์หรือไซริงค์จนกว่าคุณจะสามารถไปที่คลินิกสัตว์หรือร้านค้าขายของสำหรับสัตว์เลี้ยงได้ น้ำจะทำให้ลูกแมวอิ่มน้ำและจะไม่ปวดท้อง
เตรียมตัวป้อนนมลูกแมว
ล้างขวดนมและจุกนมด้วยน้ำที่ต้มแล้วเพื่อฆ่าเชื้อโรค วางบนผ้าขนหนูที่สะอาดและทิ้งให้เย็นสนิท ผสมนมสำหรับลูกแมวโดยตีนมเล็กน้อยเพื่อให้นมไม่จับตัวเป็นก้อน คุณควรที่จะนำนมไปอุ่นให้มีอุณหภูมิประมาณ 35-37 องศา ก่อนที่จะป้อนลูกแมว ในการตรวจสอบว่านมสามารถใช้ได้ก่อนนำไปป้อน ให้หยดนมลงไปที่ใต้ข้อมือของคุณเพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่ร้อนเกินไป
- แต่แน่ใจเสมอว่าลูกแมวนั้นมีร่างกายที่อบอุ่นก่อนที่จะป้อนนมมัน อย่าป้อนนมให้ลูกแมวที่มีอุณหภูมิน้อยกว่า 35 องศา ที่จะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบจากการสำลัก ซึ่งจะทำให้ลูกแมวหายใจลำบากและอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
จัดตำแหน่งของลูกแมวและขวดนมให้ถูกต้อง
อย่าอุ้มลูกแมวและป้อนนมมันเหมือนเด็กทารก ให้ขาของลูกแมวลดต่ำลงและให้หัวของลูกแมวอยู่ตรงๆ แทน ราวกับว่าพวกมันกำลังกินนมแม่แมว จับลูกแมวที่หลังคอและป้อนนมโดยให้จุกนมไปอยู่ที่ด้านข้างก่อน จากนั้นขยับให้อยู่ตรงกลางปากของลูกแมว ลูกแมวจะขยับจนกว่ามันจะกินนมได้อย่างสบายๆ ให้ลูกแมวควบคุมการดูดนมเอง อย่าพ่นนมออกมาหรือบังคับให้นมเข้าไปในปากของลูกแมว
- อย่าลืมทำให้ลูกแมวเรอหลังจากที่มันกินนมเสร็จแล้ว ทำให้ลูกแมวเรอเหมือนที่ทำกับเด็กทารก อุ้มลูกแมวให้อยู่ที่หน้าอก ตัก หรือหัวไหล่ ลูบลูกแมวเบาๆ และใช้นิ้ว 2 นิ้วตบหลังลูกแมวเบาๆ จนลูกแมวเรอออกมา
- ถ้าลูกแมวมีปัญหาในการงับจุกนมขวดเข้าไป ให้จับใบหน้าของลูกแมวและอย่าให้มันขยับหัว ลองป้อนนมมันอีกครั้งและลองบีบให้นมออกมา 2-3 หยด ลูกแมวก็จะงับจุกนมและกินนมได้
ป้อนนมลูกแมวบ่อยๆ
คุณจะสามารถบอกได้ว่าลูกแมวกำลังหิวถ้าลูกแมวร้องงอแงและเดินแกว่งไปมาราวกับว่ากำลังหาจุกนมอยู่ ลูกแมวจะกินนมทุก 2-3 ชั่วโมงในช่วงตลอด 2 สัปดาห์แรก จะดีที่สุดถ้าป้อนนมลูกแมวโดยใช้ขวดนมที่ออกแบบพิเศษให้มีจุกนมสำหรับลูกแมว (ออกแบบโดยบริษัท Catac) ให้ทำตามคำแนะนำที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ของนมสำหรับลูกแมวเพื่อกำหนดว่าควรจะป้อนนมลูกแมวปริมาณเท่าไหร่ต่อมื้อ ลูกแมวที่อิ่มแล้วจะผล็อยหลับไปขณะที่กำลังดูดนมอยู่และท้องจะป่อง
- ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ใช้หลอดหยอดตาหรือไซริงค์เล็กๆ หยดนมใส่ปากลูกแมว
- หลังจาก 2 สัปดาห์ไปแล้ว การป้อนนมลูกแมวสามารถยืดออกไปได้เป็นทุกๆ 3-4 ชั่วโมง และเว้นช่วง 6 ชั่วโมงในตอนกลางคืน
ดูแลลูกแมว
ช่วยลูกแมวขับของเสียและปัสสาวะ
โดยปกติแล้ว แม่แมวจะเลียที่อวัยวะเพศของลูกแมวหลังจากการป้อนนมในแต่ละครั้ง ซึ่งจะทำให้พวกมันขับถ่ายออกมา คุณจะต้องเช็ดที่ก้นของลูกแมวด้วยแผ่นสำลีที่ชุ่มน้ำอุ่นก่อนและหลังการป้อนนม นี่จะเป็นการกระตุ้นให้ให้ลูกแมวเกิดความอยากขับถ่าย ซึ่งมันจะไม่สามารถทำได้ถ้าไม่มีการกระตุ้นจนเมื่อมันมีอายุ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไปแล้ว วางลูกแมวบนผ้าห่มสะอาดๆ แล้วพลิกลูกแมวให้นอนขึ้น ใช้แผ่นสำลีที่เปียกชุ่มค่อยๆ เช็ดที่อวัยวะเพศของลูกแมว โดยเช็ดไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่เช็ดไปมา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเสียดสีได้ คุณจะสังเกตได้ว่าลูกแมวจะเริ่มปัสสาวะหรือขับถ่ายของเสียออกมา เช็ดไปเรื่อยๆ จนลูกแมวหยุดขับถ่ายแล้ว มิเช่นนั้น ลูกแมวจะขับของเสียออกมาไม่หมด
- ปัสสาวะของลูกแมวจะไม่มีกลิ่นและควรจะมีสีเหลืองซีดๆ อุจจาระของลูกแมวจะมีสีน้ำตาลอมเหลือง ถ้าคุณสังเกตว่าอุจจาระของลูกแมวเป็นสีเขียวหรือสีขาว หรือปัสสาวะมีสีเข้มและส่งกลิ่นรุนแรง ลูกแมวอาจจะขาดน้ำหรืออาจจะต้องตรวจเช็คสุขภาพ
ทำความสะอาดลูกแมว
เมื่อคุณป้อนนมแล้วช่วยลูกแมวขับของเสียแล้ว คุณจะต้องทำความสะอาดมันด้วย ใช้ผ้าที่อุ่นชื้นเช็ดลูบขนของลูกแมว โดยลูบแค่สั้นๆ ขอให้แน่ใจว่าได้ใช้ผ้าขนหนูเช็ดลูกแมวให้แห้งสนิทก่อนที่จะจับมันนอนในที่นอน
- ถ้าคุณสังเกตว่ามีอุจจาระแห้งๆ ติดอยู่ที่ขนของลูกแมว ให้จุ่มก้นของลูกแมวลงไปยังอ่างน้ำอุ่นเบาๆ จากนั้นให้เช็ดอุจจาระออกอย่างระมัดระวังด้วยเศษผ้า
ชั่งน้ำหนักลูกแมว
ลูกแมวควรที่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่อเนื่องในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ขอให้แน่ใจว่าได้ชั่งน้ำหนักลูกแมวแต่ละตัวในเวลาเดียวกันทุกๆ วัน และบันทึกน้ำหนักของพวกมันไว้ ลูกแมวจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นสองเท่าใน 1 สัปดาห์หลังจากเกิดมา พวกมันควรที่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นครึ่งออนซ์ (14.2 กรัม) ในแต่ละวันหลังจากสัปดาห์แรก ถ้าน้ำหนักลูกแมวไม่เพิ่ม หรือน้ำหนักลดลง มันอาจจะมีความปกติและต้องพาลูกแมวไปพบสัตว์แพทย์
- ตัวอย่างเช่น ปกติแล้วลูกแมวจะมีน้ำหนักแรกเกิดประมาณ 3.0-3.7 ออนซ์ (90-110 กรัม) ในช่วงที่ลูกแมวมีอายุ 2 สัปดาห์ ลูกแมวจะต้องมีน้ำหนักประมาณ 7 ออนซ์ (198.8 กรัม) เมื่ออายุ 3 สัปดาห์ ลูกแมวควรจะมีน้ำหนัก 10 ออนซ์ (280.4 กรัม)
รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรพาลูกแมวไปหาสัตว์แพทย์
เป็นเรื่องดีในการพาลูกแมวไปหาสัตว์แพทย์อย่างรวดเร็วเพื่อให้สัตว์แพทย์ตรวจเรื่องอาการขาดน้ำ หนอนแมลงวันหรือปรสิตที่อาจจะฝังตัวอยู่ในลูกแมว และเพื่อให้สัตว์แพทย์ตรวจสุขภาพทั่วไปให้เจ้าหน้าที่สัตว์แพทย์บางคนอาจจะตรวจลูกแมวให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายถ้าคุณบอกเขาว่าคุณกำลังดูแลลูกแมวกำพร้าที่ชีวิตไว้ คุณควรที่จะรู้ว่าเมื่อไหร่ที่คุณควรพาลูกแมวไปรักษากับสัตว์แพทย์ ให้พาลูกแมวไปหาสัตว์แพทย์ถ้าคุณสังเกตว่าลูกแมวมีอาการต่อไปนี้
- อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไป (มากกว่า 39.4 องศาหรือน้อยกว่า 37.2 องศา)
- ไม่อยากอาหาร (ถ้าลูกแมวไม่กินอะไรเลยตลอดทั้งวัน ให้พาลูกแมวเข้ารับการตรวจฉุกเฉิน)
- อาเจียน (ถ้าเกิดขึ้นตลอดเวลา ให้พาลูกแมวเข้ารับการตรวจฉุกเฉิน)
- น้ำหนักลดลง
- ไอ จาม และมีน้ำออกมาจากตาหรือจมูก
- ท้องเสีย (ถ้าเกิดขึ้นตลอดเวลา ให้พาลูกแมวเข้ารับการตรวจฉุกเฉิน)
- หมดแรง
- เลือดออกไม่ว่าจะตรงไหนก็ตาม (ให้พาลูกแมวเข้ารับการตรวจฉุกเฉิน)
- หายใจลำบาก (ให้พาลูกแมวเข้ารับการตรวจฉุกเฉิน)
- บาดเจ็บ เช่น ถูกลดชน ร่วงตกลงมา เดินกระโผลกกะเผลก ถูกเหยียบ หรือหมดสติ (ให้พาลูกแมวเข้ารับการตรวจฉุกเฉิน)
เคล็ดลับ
- ในหลายเมืองมีโครงการในการทำหมันแมวและแมวจรจัด
- ศูนย์ดูแลสัตว์เป็นสถานที่ที่ดีในการขอคำแนะนำและการบริการจากสัตว์แพทย์ในราคาไม่แพง และอาจจะช่วยให้คุณหาบ้านให้ลูกแมวเมื่อมันโตพอแล้ว บางคนก็ได้ช่วยเหลือเลี้ยงดูลูกแมวจนกระทั่งมันถูกรับเลี้ยงไป
- ที่ที่ดีที่สุดสำหรับลูกแมวแรกเกิดคือการได้อยู่กับแม่ของมัน ถ้าเป็นไปได้ ลูกแมวดุร้ายควรจะออกห่างจากแม่ของมันเมื่ออายุ 4 สัปดาห์ ให้สังเกตบริเวณที่แม่แมวคลอดลูกว่าลูกแมวนั้นกำพร้าหรือถูกทิ้งจริงๆ ก่อนที่จะเก็บมันมาดูแล บางครั้งแม่แมวอาจจะซุ่มอยู่ไม่ไกล ลูกแมวที่ถูกทอดทิ้งจะสกปรกและจะร้องงอแงเพราะอากาศหนาวเย็นและความหิว
- ถ้าคุณพบลูกแมวแรกเกิดกำพร้าและไม่สามารถช่วยเหลือดูแลได้ หรือไม่รู้จักใครที่จะช่วยเหลือได้ ให้พามันไปที่องค์กรช่วยเหลือสัตว์หรือศูนย์ดูแลสัตว์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ องค์กรเหล่านี้จะรู้วิธีดูแลลูกแมวดีที่สุดถ้าคุณไม่มีข้อมูลอะไร
- ถ้ามีแค่ลูกแมวตัวเดียว ให้หาตุ๊กตาตัวเล็กๆ ให้ลูกแมวกอดซุกไซ้ก็จะช่วยให้ลูกแมวอุ่นและทำให้มันนึกถึงแม่ของมันและพี่น้องตัวอื่นๆ
- ใช้แปรงสีฟันเลียนแบบความสากของลิ้นแม่แมวที่เลียลูกแมวขณะที่ลูกแมวกินนมเสร็จ ใส่นาฬิกาเข็มแบบ ‘ติ๊กต๊อก’ ไปใน ‘รังพัก’ ของลูกแมว เพื่อจะได้กล่อมปลอบลูกแมว
- ปล่อยให้ลูกแมวหลบซ่อนตัวและไม่ต้องบังคับให้มันทำอะไร มันจะเปิดใจให้กับคุณในที่สุด หากล่องใหญ่ๆ และใส่ที่นอนของลูกแมวลงไป เพื่อที่ลูกแมวจะได้มีพื้นที่ส่วนตัวและรู้สึกปลอดภัย