การปฐมพยาบาลให้น้องหมาเบื้องต้น
เหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้จะระมัดระวังเพียงใด แต่เหตุฉุกเฉินก็สามารถเกิดขึ้นกับน้องหมาของเราได้เสมอ ดังนั้นคงจะดีถ้าเรารู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับน้องหมาที่เรารัก ซึ่งการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องจะช่วยลดความเจ็บปวด และบรรเทาอาการเบื้องต้นไม่ให้รุนแรงมากขึ้นไปกว่าเดิมได้ก่อนที่จะได้พบกับสัตวแพทย์
First Aid วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เพราะอุบัติเหตุคือสิ่งที่ไม่คาดฝันและเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ เหล่าคุณพ่อคุณแม่ของน้องหมาน้องแมวจึงต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมไว้ดูแลในวันที่น้องหมาน้องแมวต้องพบกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เรามารู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจพบได้กันดีกว่า
แนวทางการจัดการเหตุฉุกเฉินแบบต่างๆ
เพราะอุบัติเหตุคือสิ่งที่ไม่คาดฝันและเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ เหล่าคุณพ่อคุณแม่ของน้องหมาน้องแมวจึงต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมไว้ดูแลในวันที่น้องหมาน้องแมวต้องพบกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เรามารู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจพบได้กันดีกว่า
สิ่งสำคัญที่สุดในการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินคือ “การตั้งสติ” เหล่าคุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า และลดความรุนแรงของอาการอย่างดีที่สุด ก่อนที่จะส่งตัวน้องหมาน้องแมวให้ถึงมือคุณหมอเพื่อรักษาในขั้นต่อไป
1. ผึ้งหรือตัวต่อต่อย
แท้จริงแล้วเหล็กในผึ้งกับต่อไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะเหล็กในผึ้งมีฤทธิ์เป็นกรด จึงต้องล้างด้วยเบกกิ้งโซดาที่เป็นด่าง แต่ถ้าเป็นเหล็กในตัวต่อจะมีฤทธิ์เป็นด่าง ควรล้างด้วยน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชู เพื่อให้ฤทธิ์ของเหล็กในอ่อนลงไป จากนั้นประคบเย็นบริเวณที่น้องหมาหรือน้องแมวโดนต่อย และทาคาลาไมน์หรือครีมกันแมลงกัดต่อย คอยสังเกตอาการต่อเนื่องว่าน้องหมาน้องแมวมีอาการบวมมากหรือหายใจลำบากหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะน้องอาจจะแพ้เหล็กในผึ้งหรือต่ออย่างรุนแรงได้
2. มีแผลเลือดออก
โดยทั่วไปถ้าแผลตื้นถือว่าไม่อันตรายมาก เพียงล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือใช้น้ำเกลือล้างแผล และใช้ยาสำหรับใส่แผลสดทาบริเวณแผลแต่ถ้าน้องหมาหรือน้องแมวมีแผลลึกถึงหลอดเลือดแดงและมีเลือดออกมาก จะสังเกตได้จากเลือดที่ไหลออกมาจะมีสีแดงสด พุ่งแรง และหยุดยาก ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือล้างแผล ก่อนจะใช้ผ้าก๊อซสะอาดกดปากแผลให้แน่นไว้เป็นเวลา 5 – 7 นาทีเพื่อห้ามเลือด หากเลือดไม่หยุด ให้กดแผลเอาไว้ระหว่างนำน้องหมาน้องแมวไปส่งคุณหมอโดยด่วน
3. สำลัก
หากพบน้องหมาหรือน้องแมวมีอาการสำลัก ให้ลองเปิดปากเขาออกมาแล้วดึงลิ้นออกมาตรงด้านหน้าอย่างเบามือเพื่อดูว่ามีอะไรอุดตัน หรือมีของแปลกๆ ที่เขาเผลอกินไปอุดอยู่หรือไม่ ถ้ามีและอยู่ไม่ลึกนักอาจจะใช้นิ้วเขี่ยออกมาได้ หรือใช้ที่หนีบเล็กๆ คีบออกมา แต่ระวังอย่าให้สิ่งแปลกปลอมนั้นหลุดลึกเข้าไปในลำคอเพราะอาจจะไปอุดตันหลอดลมได้
4. เป็นลมแดด
ภาวะลมแดดหรืออุณหภูมิร่างกายสูงจัดจากอากาศร้อนนั้นเป็นเหตุฉุกเฉินที่พบได้บ่อยๆ ในบ้านเรา ควรพาไปพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด แต่แก้ไขด้วยการปฐมพยาบาลก่อน โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวน้องหมาหรือน้องแมวทันทีพร้อมๆ กับเปิดลมเย็นเต็มแรง เพื่อช่วยระบายความร้อนออกไปจากร่างกายเขาให้เร็วที่สุด ที่ต้องระวังคือ ห้ามจับน้องหมาหรือน้องแมวแช่น้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้หลอดเลือดส่วนปลายอวัยวะหดตัวจนร่างกายระบายความร้อนไม่ได้ อาจส่งผลให้น้องเขาช็อกจนเสียชีวิตได้เลยนะ
5. เจ็บขา/ขากะเผลก
ควรตรวจขาของน้องหมาน้องแมวข้างที่เจ็บอย่างเบามือด้วยความอ่อนโยนว่าเกิดจากอะไร อย่าลืมดูที่ฝ่าเท้าเพราะบางทีน้องหมาน้องแมวอาจจะเจ็บขาเพราะโดนหนามทิ่มที่ฝ่าเท้าได้เช่นกัน หากสงสัยว่ามีกระดูกหักเนื่องจากน้องหมาน้องแมวร้องเจ็บเมื่อเราแตะโดน และไม่ลงน้ำหนักขาที่เจ็บเลย ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็ว
6. หมดสติ
หากน้องหมาน้องแมวหมดสติจากการจมน้ำ ให้ยกส่วนท้ายของน้องขึ้นเหนือหัว แล้วกดบริเวณหน้าอกของเขาเต็มแรงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เขาคายน้ำจากปอดออกมาให้หมด โดยดูจากการที่เห็นว่าไม่มีน้ำไหลออกมาจากปากอีกแล้ว แต่หากเกิดจากการถูกไฟช็อต ต้องรีบสับคัตเอาท์หรือหยุดแหล่งกำเนิดไฟฟ้าทั้งหมดทันที ห้ามแตะน้องหมาน้องแมวโดยตรง แต่ควรรีบใส่ถุงมือยางหรือฉนวนกันไฟฟ้าแล้วพาน้องไปหาสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด
7. อาเจียน
อาเจียนเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเป็นสัญญาณบอกเหตุฉุกเฉินก็ได้ ควรสังเกตอาการของน้องหมาน้องแมวให้ดี ถ้ายังอาเจียนต่อเนื่องหรืออาเจียนพร้อมอาการอื่นๆ เช่น มีไข้ ซึม ท้องเสีย มีน้ำลายไหลมาก หายใจลำบาก หรือหมดสติ ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยทันที และถ้าสงสัยว่าน้องกินอะไรมีพิษเข้าไป ควรหยิบของที่สงสัยว่าน้องกินไปให้สัตวแพทย์ดูด้วย