ลูกหมาวัยซน ต้องดูแลยังไง

ลูกหมาวัยซน ต้องดูแลยังไง เชื่อว่า หลายคนเลยที่พอเข้าปีใหม่แล้วก็หาน้องหมาตัวใหม่เข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัว ส่วนมากนิยมเลือกน้องหมาวัยกำลังซนมาดูแล ซึ่งช่วงวัยนี้บอกเลยว่า เราต้องคอยดูแลพวกเค้าเป็นพิเศษ ยิ่งถ้าเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยเลี้ยงน้องหมามาก่อนแล้วด้วยก็ยิ่งต้องใส่ใจดูแลพวกเค้ามาก ๆ เลยน้า ลูกสุนัขวัยกำลังซนต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดโรคต่าง ๆ ฝึกเข้าสังคมเพื่อสร้างเสริมนิสัยที่ดี และระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากความซุกซน

 

เตรียมความพร้อมก่อนนำลูกสุนัขมาเลี้ยงในบ้าน

1. จัดเตรียมสถานที่

ก่อนที่นำลูกสุนัขมาเลี้ยง เราควรเตรียมห้องไว้ซักห้องหรือหากไม่มีอาจเป็นมุมหนึ่งในบ้าน โดยมีสิ่งสำคัญคือต้องค่อนข้างเงียบ ไม่มีคนพลุกพล่านหรือเดินผ่านไปมาตลอดเวลาและสะอาด การจัดเตรียมพื้นที่ไว้เป็นสัดส่วนจะช่วยให้เราสามารถดูแลลูกสุนัขได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น

 

2. เตรียมที่นอนและอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ

เราควรเตรียมที่นอนไว้ก่อนที่จะรับลูกสุนัขมาเลี้ยง ที่นอนของลูกสุนัขอาจจะเป็นตะกร้าปูด้วยผ้าขนหนูนุ่มๆ หรือจะเป็นที่นอนสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะที่ขายกันในร้านขายของสัตว์เลี้ยงเลยก็ได้ ร่างกายของลูกสุนัขยังควบคุมอุณหภูมิร่างกายตัวเองไม่ค่อยได้ จึงควรได้รับความอบอุ่นทันที หากในช่วงที่มีอากาศหนาวอาจจะต้องเพิ่มไฟกกเพื่อให้อุณหภูมิสุนัขไม่ลดต่ำมากเกินไป นอกจากนี้อุปกรณ์จำเป็นต่างๆ เช่น ขวดนมสำหรับสุนัข ซึ่งมีขนาดจุกนมที่ไม่ใหญ่เกินไป กรงแบบกระเป๋าเอาไว้พาลูกสุนัขไปหาหมอ และชามอาหาร ชามใส่น้ำ ก็ไม่ควรมองข้าม

 

3. เตรียมนมและอาหาร

อย่างแรกที่เราควรทราบเลยคือลูกสุนัขห้ามกินนมวัวเด็ดขาด โดยเฉพาะลูกสุนัขที่ยังไม่หย่านมเพราะว่าในน้ำนมวัวมีปริมาณสารอาหารที่ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตในลูกสุนัข และร่างกายลูกสุนัขบางตัวก็ไม่มีเอนไซม์ย่อยแลคโตสซึ่งเป็นน้ำตาลในน้ำนมวัวอีกด้วย จึงอาจทำให้ลูกสุนัขท้องเสีย รวมไปถึงนมผงสำหรับเด็ก นมกล่อง หรือนมข้นหวานก็ห้ามใช้เช่นกัน โดยเราควรเลือกเป็นน้ำนมทดแทนสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะแทน และอย่าลืมศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารลูกสุนัข 2 เดือน ไว้เตรียมพร้อมด้วย เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลูกสุนัขเริ่มหย่านมและหัดกินอาหารเม็ดแล้วนั่นเอง

 

4. ประเมินเวลาและค่าใช้จ่าย

การเลี้ยงลูกสุนัขนั้นจำเป็นต้องมีเวลาดูแลค่อนข้างมาก หากตัดสินใจเริ่มต้นรับเลี้ยงลูกสุนัขแล้วเราอาจะต้องแบ่งเวลาหรือตกลงกับสมาชิกในบ้านมาผลัดกันดูแล นอกจากนี้เรื่องค่าใช้จ่ายก็สำคัญเช่นกัน บางคนอาจคิดว่าเลี้ยงสุนัขตัวเดียวไม่น่ามีอะไรมากหรอก แต่จริงๆ แล้วเราต้องเตรียมค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องค่าอาหาร ค่าฉีดวัคซีน และอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ เมื่อลูกสุนัขโตขึ้นด้วย

 

5. เตรียมตัวและเตรียมใจ

สุดท้ายก่อนที่เราจะเริ่มเลี้ยงลูกสุนัขซักตัวหนึ่ง เราต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม อย่าลืมถามตัวเราก่อนว่าพร้อมดูแลเขาไปทั้งชีวิตหรือไม่ เพราะการเลี้ยงสุนัขเราต้องดูแลเขาไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพราะแบบนั้นเราจึงต้องตั้งใจจริงและดูแลเขาด้วยความรัก อย่างที่สุนัขเองก็มอบความรักให้กับเราเช่นกัน

 

ลูกสุนัขวัยกำลังซน ต้องดูแลเรื่องอะไรบ้าง?

1. เลือกชนิดของนมให้ถูกต้อง

หากเป็นไปได้ ควรเลือกนมทดแทนสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายของสำหรับสัตว์เลี้ยงต่างๆ แต่ถ้าไม่สามารถหาได้จริงๆ ให้เลือกเป็นนมแพะแทน ส่วนนมที่ห้ามให้ลูกสุนัขกินเด็ดขาดเลย คือ นมวัว นมผงสำหรับเด็ก นมกล่องทุกชนิด และนมข้นหวานแบบต่างๆ การให้นมที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ลูกสุนัขท้องเสีย ได้รับสารอาหารไม่เหมาะสม จนทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสียชีวิตได้

 

2. เตรียมนมให้พร้อมก่อนป้อน

ลูกสุนัขแต่ละช่วงอายุต้องการนมในปริมาณที่แตกต่างกัน ดังนี้

– ลูกสุนัข อายุประมาณ 1 อาทิตย์ ต้องการนม 13 ซีซี ต่อวัน

– ลูกสุนัข อายุประมาณ 2 อาทิตย์ ต้องการนม 17 ซีซี ต่อวัน

– ลูกสุนัข อายุประมาณ 3 อาทิตย์ ต้องการนม 20 ซีซี/น้ำหนักตัว 100 กรัม ต่อวัน

– ลูกสุนัข อายุประมาณ 4 อาทิตย์ ต้องการนม 22 ซีซี/น้ำหนักตัว 100 กรัม ต่อวัน

โดยก่อนป้อนนมเราต้องอุ่นนมก่อนทุกครั้ง หากให้ลูกสุนัขกินนมเย็นจะทำให้ท้องเสียได้ น้ำนมที่ให้ควรมีอุณหภูมิประมาณ 35-37.8 องศาเซลเซียส และควรให้นมจากขวดนมสำหรับสุนัขเท่านั้นเพราะจุกของขวดนมทำมามีขนาดพอดีกับปากลูกสุนัขที่ไม่ใหญ่มาก หากใช้ขวดนมเด็กจะทำให้จุกมีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับลูกสุนัขได้

 

3. วิธีการป้อนนมลูกสุนัข

เริ่มต้นโดยจัดท่าลูกสุนัขให้ถูกต้อง ห้ามให้ลูกสุนัขนอนหงายเด็ดขาด ควรให้ลูกสุนัขนอนคว่ำแล้วหนุนบริเวณหัวให้สูงกว่าลำตัว แล้วให้ลูกสุนัขกินนมจากขวดนม วิธีนี้จะทำให้ลูกสุนัขกินนมง่ายได้มากที่สุด หลังให้นมแล้วสิ่งที่ต้องทำคือเช็กดูว่าท้องของลูกสุนัขขยายขนาดใหญ่เกินไปหรือไม่ ถ้าท้องขยายมากไปอาจแสดงว่าลูกสุนัขท้องอืด ควรพาไปพบสัตวแพทย์ ส่วนความถี่ของการให้นมลูกสุนัขนั้นขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ยิ่งลูกสุนัขอายุน้อยยิ่งต้องให้นมบ่อยขึ้น ดังนี้

– ลูกหมาที่อายุประมาณ 2-3 วัน ต้องป้อนนมทุกๆ 2 ชั่วโมง

– ลูกหมาที่อายุประมาณ 4-7 วัน ต้องปอ้นนมทุกๆ 3 ชั่วโมง

– ลูกหมาที่อายุประมาณ 2 สัปดาห์ ต้องป้อนนมทุกๆ 4 ชั่วโมง

– ลูกหมาที่อายุประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องป้อนนม วันละ 4-5 ครั้ง

 

4. เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการหย่านม

ปกติแล้วลูกสุนัขจะหย่านมตอนอายุประมาณ 8 สัปดาห์ แต่ประมาณอายุ 6 สัปดาห์เราอาจจะเริ่มแนะนำอาหารเม็ดให้สุนัขได้ลองฝึกทานดูได้ โดยเริ่มต้นจากเอาอาหารเม็ดแช่น้ำอุ่นจนนิ่มหรือแช่นมแล้วให้ลูกสุนัขกินทีละน้อย แต่เนื่องจากร่างกายของลูกสุนัขช่วงนี้กำลังอยู่ในช่วงการเจริญเติบโต จึงต้องเลือกอาหารเม็ดที่มีคุณภาพและสารอาหารครบถ้วน ให้ลูกสุนัขของคุณได้รับประสบการณ์การกินอาหารเม็ดด้วย SUPERCOAT® (ซุปเปอร์โค้ท®) สูตรลูกสุนัข ที่ทำมาเพื่อลูกสุนัขโดยเฉพาะ

 

5. ฝึกให้เริ่มกินอาหารเม็ด

น้องหมาวัยกำลังซนส่วนมากจะมีอายุที่ประมาณ 7 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งช่วงวัยนี้ยังเป็นช่วงที่ยังไม่หย่านมแม่ แนะนำว่า ควรฝึกให้น้องหมากินอาหารเม็ดเพื่อที่จะให้เค้าเคยชิน กินอาหารเม็ดได้แบบไม่มีปัญหาในตอนโต ซึ่งการให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปนั้นดีต่อสุขภาพของน้องหมาเพราะพวกเค้าจะได้รับสารอาหารที่เหมาะต่อการเจริญเติบโต และการให้อาหารเม็ดก็ยังช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณความต้องการที่เหมาะสมในแต่ละมื้ออาหารของน้องหมาได้ด้วย

โดยอาจจะเริ่มจากวิธีง่าย ๆ คือ ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปสูตรสำหรับลูกสุนัขผสมกับนมแพะรสจืด จนกระทั่งอายุประมาณ 10-12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกสุนัขเริ่มหย่านมแล้ว อาจจะเริ่มปรับสูตรอาหารเม็ดให้ลูกสุนัขด้วยการนำอาหารเม็ดมาผสมกับไข่ต้ม(เอาเฉพาะไข่แดง) และนมแพะรสจืด โดยให้กินในปริมาณไม่ต้องมากนักวันละ 3-4 มื้อ เนื่องจากลูกสุนัขวัยนี้จะใช้พลังงานเยอะ กินเก่ง อยู่ในช่วงกำลังเจริญเติบโต หรือทางที่ดีอาจจะปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านเพื่อขอคำแนะนำเรื่องโภชนาการอาหารที่เหมาะสมสำหรับลูกสุนัขแต่ละตัวก็ได้

 

6. ระวังอุบัติเหตุ

ลูกสุนัขอายุ 2-4 เดือนเป็นช่วงที่กำลังซนมาก ๆ จะกัดแทะสิ่งของต่าง ๆ เนื่องจากฟันกำลังขึ้น ทำให้พวกเค้ารู้สึกคันฟัน ชอบกัดแทะสิ่งของต่าง ๆ เช่น รองเท้า กัดมือ งับเท้าเจ้าของ หรือบางตัวก็อาจจะคาบสิ่งของต่าง ๆ มากัดเล่น ทำให้ต้องระวังเก็บข้าวของให้มิดชิดเพราะน้องหมาอาจจะเอาสิ่งของต้องห้าม เช่น หลอดยาสีฟัน สารเคมี หรือสิ่งของที่มีความแหลมคม มากัดแทะจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพวกเค้าได้

รวมถึงควรระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากความซุกซน เช่น สิ่งของหล่นทับ วิ่งตกบันได ตัวติด วิ่งตกท่อ หรือวิ่งเล่นซนจนเกิดอุบัติเหตุรถชนได้จึงต้องคอยระมัดระวังให้ลูกสุนัขอยู่ในสายตาอย่างใกล้ชิด แนะนำให้ทำรั้วรอบขอบชิดเพื่อป้องกันอันตรายจะดีที่สุดนะ

นอกจากนี้แล้วน้องหมาเด็กเป็นวัยที่กำลังอยากเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว อยากทักทายกับผู้คนแปลกหน้า รวมถึงผูกมิตรกับน้องหมาตัวอื่น ๆ ซึ่งถ้าหากน้องหมาตัวอื่นมีนิสัยดุ ตัวใหญ่กว่าก็อาจจะเป็นอันตรายกับลูกสุนัข อาจะถูกกัดได้ ดังนั้น การให้ลูกสุนัขทำความรู้จักกับน้องหมาตัวอื่น ๆ ควรดูนิสัยน้องหมาที่จะพาเข้าหาเพื่อความปลอดภัย ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายที่ไม่คาดคิดได้

 

7. พาพบคุณหมอ

น้องหมาวัยกำลังซุกซนที่ขาดไม่ได้คือการพาไปพบคุณหมอเพื่อทำวัคซีนป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งลูกสุนัขควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ควรพาน้องหมาที่อายุน้อยกว่านี้ไปทำวัคซีน เนื่องจากการเร่งฉีดวัคซีนให้น้องหมาเร็วเกินไป ระบบภูมิคุ้นกันของพวกเค้ายังทำงานไม่สมบูรณ์ การสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจึงไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในช่วงอายุนี้ลูกสุนัขยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่สุนัขผ่านนมน้ำเหลืองที่ลูกสุนัขกินเข้าไปเมื่อ 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอดอยู่แล้ว ดังนั้น รอให้น้องหมาอายุ 6-8 สัปดาห์ขึ้นไปจะดีที่สุดนะ

 

8. ฝึกเข้าสังคม พบปะผู้คน

น้องหมาที่มีอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไปจะเริ่มมีความซุกซน อยากรู้จักผู้คนและสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ช่วงวัยนี้จึงเหมาะมาก ๆ ที่จะพาเค้าไปเริ่มต้นทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ แนะนำว่า ให้ฉีดวัคซีนให้กับลูกสุนัขก่อนแล้วค่อยพาไปทำความรู้จักกับผู้คนและสัตว์เลี้ยงที่มีนิสัยเป็นมิตร

 

การดูแลสุขภาพลูกสุนัข

1. ฉีดวัคซีนและถ่ายพยาธิ

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการดูแลสุขภาพลูกสุนัขคือการพาไปฉีดวัคซีนและถ่ายพยาธิตามกำหนด ในปัจจุบันเราสามารถพาลูกสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป โดยคุณหมอจะเลือกโปรแกรมวัคซีนที่เหมาะสม และอย่าลืมไปตามนัดให้ได้ทุกครั้ง และไม่ควรฉีดวัคซีนเร็วกว่า 6 สัปดาห์ เพราะจะทำให้วัคซีนไม่ได้ผลและอาจส่งผลข้างเคียงต่อลูกสุนัขได้

 

2. เช็กน้ำหนักตัวลูกสุนัขอยู่เสมอ

ควรชั่งน้ำหนักตัวลูกสุนัขทุกวัน เพราะในช่วง 2–3 เดือนแรก ลูกสุนัขจะมีการเจริญเติบโตที่เร็วมาก น้ำหนักของลูกสุนัขควรเพิ่มขึ้นทุกวัน หากเช็กแล้วพบว่าลูกสุนัขน้ำหนักลดลง ให้ดูว่าลูกสุนัขได้รับอาหารเพียงพอหรือไม่ หากมีอาการเบื่ออาหารและซึมร่วมด้วยให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป

 

3. ระวังเรื่องร้อนหรือหนาวเกินไป

ในช่วง 1 เดือนแรก ร่างกายของลูกสุนัขยังปรับอุณหภูมิได้ไม่ดี ดังนั้นเราจึงต้องหมั่นตรวจว่าอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมและในที่นอนเหมาะสมแล้วหรือไม่ อุณหภูมิที่ดีที่สุดคืออุ่นนิดๆ ประมาณที่เราใส่เสื้อยืดโดยไม่ร้อน หรือสังเกตอาการของลูกสุนัขก็ได้ ถ้าลูกสุนัขตัวสั่นแสดงว่ากำลังหนาว แต่ถ้าหูและลิ้นแดงขึ้นแสดงว่ากำลังร้อนเกินไป

 

4. ท้องเสียหรือถ่ายเหลว

อาการท้องเสียในลูกสุนัขถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องให้ความสำคัญมากๆ หากพบว่าลูกสุนัขท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีกลิ่นเหม็น หรือมีมูกเลือดปน ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีเพราะมีโอกาสที่ลูกสุนัขอาจจะติดเชื้อไวรัส มีพยาธิ หรือแพ้อาหารต่างๆ ได้ โดยเราต้องให้สัตวแพทย์เป็นผู้ตรวจและวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกที ปัญหาท้องเสียในลูกสุนัขนั้นไม่ควรประมาทเพราะลูกสุนัขอาจจะเสียชีวิตได้เลย

 

การดูแลสุขอนามัยลูกสุนัข

1. ดูแลเรื่องการขับถ่ายให้ลูกสุนัข

ลูกสุนัขเกิดใหม่จะไม่สามารถขับถ่ายเองได้ โดยปกติแล้วแม่สุนัขจะช่วยเลียบริเวณก้นของลูกสุนัขเพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่าย แต่ในกรณีที่เราต้องดูแลเอง เจ้าของต้องช่วยเช็ดบริเวณก้นของลูกสุนัขก่อนและหลังให้อาหารทุกครั้งด้วยผ้าเนื้อนุ่มชุบน้ำอุ่นหมาดๆ เพื่อช่วยให้ลูกสุนัขขับถ่าย

 

2. ในช่วงแรกสุนัขยังไม่ลืมตาและหูไม่ได้ยิน

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าลูกสุนัขเมื่อแรกเกิดนั้นจะยังไม่ได้ยินเสียงและมองเห็นเพราะประสาทตาและหูยังทำงานไม่ได้เต็มที่ โดยลูกสุนัขจะเริ่มมองเห็นได้ตอนอายุ 12-14 วัน ส่วนหูจะเริ่มได้ยิน เมื่ออายุได้ 20 วัน ดังนั้นในช่วง 20 วันแรกเราต้องคอยเฝ้าดูลูกสุนัขเป็นพิเศษเพราะช่วงนี้เขาจะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ อาจจะคลานปีนป่ายจนตกหรือถูกทับจากของต่างๆ ได้

 

3. กินและนอนตลอดทั้งวันไม่ใช่ปัญหา

เชื่อไหมว่าลูกสุนัขอาจจะนอนได้วันละ 18-20 ชั่วโมงเลยทีเดียว โดยเฉพาะช่วง 1 เดือนแรก ลูกสุนัขนอนหลับนานแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติเพราะในระหว่างที่นอนร่างกายของพวกเขาจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเจ้าของไม่ต้องกังวลไปถ้าพบว่าลูกสุนัขนอนตลอดทั้งวัน ตื่นมาเพียงแค่ตอนกินเท่านั้น เพราะว่านั่นเป็นเรื่องปกตินั่นเอง

 

4. จับนิดแตะหน่อย ช่วยเสริมสายสัมพันธ์ระหว่างกันได้

เมื่อลูกสุนัขเริ่มโตขึ้นก็จะเริ่มมีพัฒนาการทางด้านสังคม อาจจะเริ่มตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์ ในช่วงนี้ให้เราสัมผัสหรือเล่นเบาๆ กับลูกสุนัขจะช่วยเสริมสายสัมพันธ์ระหว่างเรากับสุนัขให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และช่วยในการพัฒนาการทางด้านสังคมของลูกสุนัขอีกด้วย

 

5. สอนคำสั่งง่ายๆ ให้กับลูกสุนัข

เมื่อลูกสุนัขอายุได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์ ให้ลองฝึกคำสั่งง่ายๆ เช่น การขับถ่ายเป็นที่ เรียกชื่อแล้วหัน ฝึกให้นั่งและคอย การฝึกตอนที่ยังเป็นลูกสุนัขจะฝึกได้ง่ายกว่าและทำให้สุนัขค่อยๆ ปรับตัวกับสังคมของมนุษย์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

 

ซึ่งการพบปะในครั้งแรกจะช่วยให้เค้าได้รู้จักปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและรู้จักการผูกมิตร เข้าสังคม แนะนำว่า ค่อย ๆ ให้น้องหมาทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ไม่ควรทำให้เกิดความหวาดกลัวเพื่อให้เค้ามีประสบการณ์ที่ดี มีความมั่นใจ จะช่วยทำให้น้องหมามีอารมณ์ดี ไม่เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิงจาก

https://www.purina.co.th

https://www.spectrafordog.com

https://www.dogilike.com